posttoday

อู่ฮั่นเอฟเฟคต์...มาตรการยาแรงรับมือเศรษฐกิจช็อค

10 กุมภาพันธ์ 2563

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ไวรัสโคโรนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจลามกระทบไปทั้งโลกคุกคามต่อเสถียรภาพการค้าและ การเดินทางของประชากรระดับนานาชาติ ล่าสุดผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนถึงผลกระทบที่จะตามมาจากเศรษฐกิจของจีนคาดว่าไตรมาสแรกอาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของจีนเป็นการเผชิญความท้าทายใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะรับมือได้อย่างไรเหตุเพราะจำนวนผู้เสียชีวิตวันศุกร์ที่ผ่านมามีถึง 638 รายหากอัตราเสียชีวิตระดับนี้ตัวเลขทะลุ 700 แน่นอน ทั่วโลกตัวเลขผู้ติดเชื้อเกินกว่า 32,000 รายส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน การแพร่ระบาดไปประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศพัฒนาที่มีระบบสุขอนามัยระดับสูงอีกทั้งมีแนวโน้มที่การติดเชื้อจะมาจากประเทศอื่นไม่ใช่เฉพาะจีนประเทศเดียว

เศรษฐกิจภายในของจีนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยกระดับเป็นสงครามประชาชนนอกจากปิดเมืองอู่ฮั่นยังมีการปิดหลายพื้นที่รวมทั้งเมืองซัวเถาซึ่งอยู่ทางตอนใต้ เมืองเหล่านี้เป็นเขตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ จีนใช้มาตรการปิดประเทศห้ามคนเข้าออกแม้แต่การเดินทางในประเทศก็จำกัด ร่วมถึงกำลังพิจารณาเลื่อนการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติจีนซึ่งเป็นงานสำคัญสูงสุดของพรรค คอมมิวนิสต์จีน คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาก่อนนี้จากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาเมื่อมาเจอวิกฤตเชื้อไวรัสทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวหนักสุดในรอบ 29 ปี คาดว่าจีดีพีปีนี้อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 5.1 ซึ่งแน่นอนว่าในฐานะที่เป็นตลาดใหญ่ของโลกย่อมกระทบเป็นลูกโซ่ไปประเทศต่างๆ

“Wuhan Effect” มีผลกระทบต่อไทยค่อนข้างมากเนื่องจากเศรษฐกิจผูกพันกับจีนในระดับสูงเกิดอาการช็อคแบบฉับพลันจากทัวร์จีนที่มีสัดส่วนท่องเที่ยวถึงร้อยละ 28 หายวูบไปภายในสัปดาห์เดียว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาปรับเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยวจากปีที่แล้ว 40.78 ล้านคนเหลือ 35 – 36 ล้านคน คาดว่ารายได้อาจหายไป 2.5 – 3.0 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของจีดีพี มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของโรงแรมแถบพัทยาเขาบอกว่าตัวเลขจองปลายเดือนนี้หายไปเกือบหมดทางภูเก็ตและจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ ก็คล้ายกันกระทบไปถึงโรงแรม รีสอร์ท รถทัวร์ เรือบริการท่องเที่ยว ภัตตาคาร ร้านอาหาร ไกด์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับของที่ระลึกตลอดจนแรงงานทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบ 8 - 9 ล้านคน

อย่าลืมว่านักท่องเที่ยวต่างชาติแต่ละวันเฉลี่ยประมาณ 109,589 คน ต้องกินต้องใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 5.561 พันล้านบาท ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเป็นนักช็อปอันดับหนึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมากขนาดไหน ที่ไม่ค่อยได้กล่าวกันคือภาคค้าส่ง-ค้าปลีกตัวเลขยอดขายจะวูบตาม ขณะนี้ร้านค้า-ตามห้างหงอยแม้แต่คนไทยไม่จำเป็นช่วงนี้ไม่อยากออกไปไหนรวมถึงการเดินทางทางเครื่องบินก็ลดลงจนถึงต้องมีการลดเที่ยวบินและปรับตารางบินใหม่เหตุเพราะกลัวไวรัสจะมาแพร่ถึงตัวเอง ความวิตกกังวลสะท้อนจากที่แย่งกันซื้อหน้ากากอนามัยและเจลแอลกฮอล์จนขาดตลาด รัฐบาลต้องประกาศเป็นสินค้าควบคุมขนาดระดับรองนายกรัฐมนตรี คุณอนุทิน ชาญวีรกูล เดินแจกหน้ากากอนามัยตามสถานีรถไฟด้วยตัวเองให้แล้วไม่รับท่านโกรธจริงๆ

ผลกระทบด้านอุตสาหกรรมเมื่อผู้บริโภคซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปวันละเป็นแสนคนตัวเลขสั่งซื้อและกำลังการผลิตย่อมลดตามไปด้วย ขณะที่ตลาดส่งออกของจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 12.0 เมื่อประชาชนไม่ออกจากบ้านไม่มีอารมณ์จะกินจะซื้อของ โรงงานต่างๆ ของจีนก็ชะลอการผลิตกระทบถึงการส่งออกของไทยมีผู้ประกอบการเล่าให้ฟังว่าเปิด ออเดอร์หรือ L/C มาแล้วเขายังให้ชะลอการส่งของเพราะท่าเรือต่างๆ เช่น เซียงไฮ้ ชิงเต่า กวางโจว ฯลฯ ไม่มีคนทำงาน ทางการจีนประกาศระงับไม่ให้คนเดินทางไปจนถึงวันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์และอาจต่อหยุดยาว สินค้าไปถึงท่าเรือเอาของลงได้แต่ไม่มีคนมาเคลียร์สินค้าออกจากท่า ตัวเลขขนส่งทางทะเลไปจีนลดลงเกือบร้อยละ 20 ที่จะตามมาคือตัวเลขส่งออกจะลดลงมีการปรับเป้าอาจขยายตัวได้ร้อยละศูนย์หรือติดลบใกล้เคียงกับปีที่แล้วแม้แต่สินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ผลไม้ต่างๆ อาจส่งออกได้น้อยลงจะทำให้ราคาตกต่ำ

จีนเป็นซัพพลายเชนรายใหญ่ประมาณร้อยละ 60 นำเข้าชิ้นส่วน อะไหล่ สแปร์พาร์ทซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ ซึ่งสต๊อกมีเหลือไม่เกินหนึ่งเดือนหรือน้อยกว่าหากยังส่งของมาไม่ได้หลายโรงงานอาจต้อง “Shutdown” ไปจนถึงการหยุดโรงงานชั่วคราว ประเด็นคือเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงเป็นทุนอยู่แล้วทั้งจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง วิกฤตงบประมาณหวังพึ่งภาคการส่งออกก็มาเจอพิษไวรัสอู่ฮั่น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและการค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ปรับตัวเลขจีดีพีเหลือร้อยละ 2.1 จากเดิมที่ประเมินไว้จะขยายตัวร้อยละ 2.7 มาตรการลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เหลือร้อยละ 1.0 ต่ำสุดในรอบ 20 ปีเป็นมาตรการหนึ่งที่ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ทะยอยลดดอกเบี้ย เช่น อัตรากู้รายย่อย (MRR) ลดจากร้อยละ 6.87 เหลือร้อยละ 6.62 แต่พวกที่ติด NPL แบงค์เขาไม่อยากได้ดอกเบี้ยจะเอาเงินต้นคืน

ประเด็นที่น่ากังวลคือสภาพคล่องของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมถึงผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงหลังเมษายนจะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาจะต้องสามารถจับต้องเป็นรูปธรรมและจะต้องตอบโจทย์ปัญหาของภาคเศรษฐกิจลงไปถึงระดับชาวบ้าน โดยจะต้องให้ความสำคัญเรื่องสภาพคล่องของภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว ซึ่งมีเอสเอ็มอีจำนวนมาก ผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งนี้จะกินวงกว้างเพราะเงินจากท่องเที่ยวกระจายลงไปถึงรากหญ้า จะรับมืออย่างไรจะออกมาตรการอะไรขอให้ถามภาคเอกชนว่าปัญหาเขาอยู่ตรงไหนต้องการอะไรแก้ให้ตรงความต้องการ จุดอ่อนของรัฐบาลคือทีมเศรษฐกิจต้องเอาคนรู้จริงทำเป็นไม่ใช่เอาตำราฝรั่งมาพูดหรือพูดจ้อสร้างฝันทำกันมาหลายปีพาเศรษฐกิจมาพังจนถึงวันนี้ หลังจากปลายเดือนผ่านญัตติไม่ไว้วางใจฯ ปรับออกให้ไปพักบ้างเอาคนรู้ปัญหาจริงเข้ามาแก้...เถอะครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)