posttoday

ประเทศไทย.......กับมาตรการเตรียมรับมือผลกระทบจากไวรัสอู่ฮั่น

03 กุมภาพันธ์ 2563

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

คืนวันพฤหัสที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกหรือ “WHO” ได้มีการประชุมพิเศษ ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ กรณีไวรัสโคโรน่าระบาดหนัก ที่เมืองอู่ฮั่นตัวเลขล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 213 รายและมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อ 9,356 รายในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยขั้นวิกฤตจำนวน 1,370 รายรวมถึงยังมีผู้ที่ถูกกักกันอยู่ในข่ายต้องสงสัยอีกประมาณ 12,167 ราย ตัวเลขพวกนี้ได้มาจากคณะกรรมการสุขภาพของจีนหรือ “NSC”การแพร่ระบาดครอบคลุมไป 18 ประเทศในอาเซียนมีไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่อยู่คนละฟากโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนนาดา ฝรั่งเศส เยอรมัน ฟินแลนด์ ฯลฯ การแพร่ระบาดเข้าไปเกือบทุกทวีปมีผู้ติดเชื้อรวมกันเกินร้อยคน

ไวรัสอู่ฮั่นถูกยกระดับเป็นภัยสาธารณสุขระดับนานาชาติเหตุผลของ “WHO” ระบุว่าไม่ใช่สิ่งเกิดที่จีนแต่เป็นการระบาดของโรคร้ายแรงเกิดกับประเทศต่างๆ มีความกังวลจะแพร่ขยายตัวไปสู่ประเทศด้อยพัฒนาซึ่งมีระบบการตรวจสอบที่ไม่เข้มแข็ง ความกังวลจะคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นของไวรัสซาร์สเมื่อ 17 ปีก่อนมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 800 ราย เดิมทีเดียวทางการจีนดูเหมือนจะไม่ค่อยเปิดเผยความจริงแต่แนวโน้มการระบาดขยายตัวไปทุกมณฑลของประเทศจีนและมีอัตราการขยายตัวที่เร็ว

นครอู่ฮั่นหรือหวูฮั่น (Wuhan)เป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 8 ของจีนมีพลเมืองกว่า 11-12 ล้านคนตั้งอยู่ริมแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นศูนย์คมนาคมขนส่งอยู่ในเส้นทางสายไหมรถไฟความเร็วสูงปักกิ่งจนถึงมณฑลเสฉวนไปจนถึงทิเบตและเชื่อมต่อไปประเทศตุรกี ทางบกเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าหลักมีถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมเมืองอุตสาหกรรม เช่น กุ้ยหยาง ฉงชิ่ง เซี่ยเหมิน หนานจิงและนครเซี่ยงไฮ้ ปัจจุบันอู่ฮั่นกลายเป็นเมืองร้างแทบไม่มีผู้คนออกมาเดินถนนทางการจีนปิดการเข้าออกทุกเส้นทาง ประเทศต่างๆ ทยอยเอาเครื่องบินมารับคนของตนออกจากเมือง ของไทยอยู่ระหว่างการประสานงานซึ่งรองนายกฯ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล บอกว่าจะไปรับด้วยตนเอง

จีนเป็นประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกผลกระทบครั้งนี้หนักมากสายการบินต่างๆ ทยอยลดเที่ยวบินเข้าประเทศจีน ไวรัสอู่ฮั่นจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีผู้ล้มตายและผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าใดคาดว่าทางเศรษฐกิจอาจเสียหายไม่น้อยกว่า 43,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อาจทำให้จีดีพีที่เดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.9 อาจลดเหลือร้อยละ 5.2 เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี แม้แต่ภายในประเทศการเดินทางไปมาหาสู่และท่องเที่ยวจะลดลงทำให้โรงกลั่นน้ำมันในจีนมีแนวโน้มลดกำลังการผลิต การตื่นกลัวของนานาชาติสะท้อนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงวันศุกร์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบนครนิวยอร์ก (WTI) ลดเหลือ 52.14 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เป็นระดับที่ต่ำสุดในหนึ่งปีที่เปรียบเทียบราคาต้นเดือนมกราคมลดลงถึง 10.91 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลหรือคิดเป็นร้อยละ 17.3 ราคาทองคำพุ่งขึ้นตลาดหุ้นหลักของโลกยกเว้นญี่ปุ่นลดลงหมด จนถึงวันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ได้ว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจโลกจะมีมากน้อยเพียงใด

กลับมาที่ประเทศไทยจีนเป็นคู่ค้าส่งออกรายใหญ่สุดของไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรเช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ลำไย ทุเรียน ฯลฯ จีนเป็นตลาดหลักและอยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของไทยที่เห็นชัดเจนคือเงินบาทของไทยในช่วง 2-3 วันจากที่เคยแข็งสุดๆ กลับเป็นอ่อนค่า วันพฤหัสที่ผ่านมาอยู่ที่ 31.198 บาท/เหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าสุดในรอบหนึ่งปีหากเปรียบเทียบในหนึ่งเดือนแข็งค่าถึงร้อยละ 3.44 เหตุผลหลักเกิดจากความวิตกผลกระทบด้านการท่องเที่ยวเนื่องจากจีนเป็นนักท่องเที่ยวรายใหญ่สุดของไทย

จากมติขององค์กรอนามัยโลกทำให้ทางการไทยกำลังพิจารณายกเลิก “Visa On Arrival” ซึ่งเดิมนักท่องเที่ยวจีนสามารถมาทำวีซ่าที่สนามบินหรือชาวบ้านเรียกว่า “ปิดสนามบิน” สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวระบุว่าถึงไม่ปิดสนามบินตั้งแต่ 31 มกราคมจะไม่มีกรุ๊ปทัวร์จีนเข้าไทยและภายในสัปดาห์นี้นักท่องเที่ยวจีนเกือบทั้งหมดจะออกจากประเทศไปหมด ภาคการท่องเที่ยวเจอหนักแน่นอนเพราะนอกจากทัวร์จีนหายไปเกือบหมด แต่ใน 2-3 เดือนจากนี้การเดินทางทั่วโลกจะลดลง เบื้องต้นของไทยประมาณว่าอาจหายไป 5.0 แสนคนปีนี้ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 41 ล้านคนรายได้ประมาณ 2.0 ล้านล้านบาทจะกระทบเป็นลูกระนาดตั้งแต่โรงแรม ร้านอาหาร รถทัวร์ ไกด์ ของที่ระลึกและแรงงานภาคท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคน จะมีมาตรการอะไรให้งัดมาใช้ไม่งั้นจะกระทบกันเป็นลูกโซ่ไปถึงการชะลอการจับจ่ายใช้สอย

ด้านผลกระทบที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจไทยซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.3 เหลือร้อยละ 2.8 จากปีที่แล้วขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 การส่งออกปรับจากเป้าหมายเดิมร้อยละ 2.6 เหลือร้อยละ 1.0 เทียบจากฐานปีที่แล้วที่ติดลบร้อยละ 2.5 ถือว่าเป็นการขยายตัวที่ต่ำมากๆ อีกทั้งงบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้าต้องลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไรแต่อย่างเร็วกว่าจะใช้เงินได้คงไปถึงปลายมีนาคมถึงต้นเมษายนจะทำให้เงินไม่ลงไปถึงประชาชน นอกจากนี้ยังมีปัญหาภัยแล้งและที่จะตามมาคือ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำช่วงนี้ก็เริ่มเห็นราคายางอ่อนตัวจากวิกฤตไวรัสอู่ฮั่น

ปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมาเปราะบางมากอยู่แล้วสะท้อนจากดัชนีเศรษฐกิจธันวาคม 2562 ยอดขายรถยนต์ติดลบร้อยละ 18.7 จดทะเบียนรถจักรยานยนต์ถดถอยร้อยละ 17.3 การนำเข้าเครื่องจักร-สินค้าทุนติดลบร้อยละ 8.06 และการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมหดตัวสูงถึงร้อยละ 7.94 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ติดลบร้อยละ 4.3 ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนบ่งบอกถึงความอ่อนแอด้านการลงทุนของภาคเอกชน-กำลังซื้อที่ลดลงตลอดจนกำลังการผลิตอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว เมื่อมาเจอผลกระทบจากไวรัสอู่ฮั่นยิ่งทำให้ปัญหามีความซับซ้อนและยากในการที่จะแก้ ที่น่ากังวลคือหนี้เสียหรือ NPL ของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มที่สูง ภาระของรัฐบาลก็มีมากทั้งจากการไม่ค่อยลงตัวของพรรคร่วม การขาดวินัยของสส.รวมถึงยังต้องเจอศึกซักฟอกซึ่งมีจุดอ่อนให้ฝ่ายค้านเจาะเกราะได้หลายจุด... เหนื่อยแทนครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)