posttoday

หนึ่งงาน พันเหตุผล : ยกระดับประเทศไทย (ตอนที่ 1)

22 มกราคม 2563

โดย...สโรบล ศุภผลศิริ ผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้บริหารนิติธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รุ่นที่ 1 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

โดย...สโรบล ศุภผลศิริ ผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้บริหารนิติธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รุ่นที่ 1 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ในต่างประเทศหรือในเวลาที่ผู้เขียนเดินทางไปประเทศอื่นๆ มักจะมีข้อสงสัยอยู่เสมอว่า เพราะเหตุใด บางประเทศจึงมีเมืองอยู่หลายเมืองที่ถือได้ว่าเป็นเมืองใหญ่และสำคัญ ซึ่งประชากรจากเมืองนั้นๆที่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนหรือพำนักในเมืองอื่นเพื่อทำงานในช่วงเวลาสั้นๆ ก็มักสะดวกใจที่จะกลับไปยังเมืองถิ่นกำเนิดดังกล่าวเพื่อตั้งถิ่นฐานหลังจากที่เสร็จสิ้นการศึกษาหรือการทำงาน ไม่เหมือนกับประเทศไทยที่ประชากรจากต่างจังหวัดในยุคที่ผ่านมา มักจะมากระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวง โดยหวังที่จะกลับไปเมืองที่เกิดก็เพียงในบั้นปลายชีวิต “เมื่อพร้อม”

อาจจะด้วยเหตุว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่ มีสีสันและสาธารณูปโภคที่ค่อนข้างครบคัน หรืออาจจะเป็นเหตุผลที่การทำงานในเมืองกรุงนำมาซึ่งเงินและความก้าวหน้าหาเงินเลี้ยงชีพได้หลายชีวิต และได้ทำงานตามสาขาวิชาที่เรียนมา หรือด้วยเหตุใดก็ตาม จากการที่ผู้เขียนได้พูดคุยถามไถ่ผู้คนที่เดิมทีอยู่ต่างจังหวัดและมาทำงานบริการ (service sector) ในกรุงเทพฯ คำตอบมักจะเป็นว่า อยู่กรุงเทพฯ เหนื่อย เป็นหนี้ ค่าครองชีพสูง งานแย่งกันทำ การเดินทางแออัด พื้นที่แย่งกันอยู่…แต่หากกลับต่างจังหวัดแล้ว จะมีเพียงไม่กี่งานที่จะทำงานและได้เงินเท่า

และเมื่อถามต่อว่า ถ้าเลือกได้ ตามจริงอยากอยู่ที่ใด ก็มักจะได้คำตอบว่า ถ้าแม้ได้เงินเท่ากัน หรือน้อยกว่านิดๆ ก็อยากจะกลับบ้าน เพราะทุกวันนี้ ไม่ได้อยู่กับครบครัว เงินโอนกลับต่างจังหวัดส่งลูกเรียน หรือ ใช้หนี้แทนพ่อแม่ มีเงินเมื่อไหร่ก็จะกลับ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะมีหนทางใด จะเลือกได้หรือ? เพราะแค่ค่าเช่าห้อง ค่าอาหาร และค่าหนี้อะไรต่อมิอะไร ก็แทบจะหมดไปแล้ว ไม่มีทางได้กลับไปอยู่พร้อมหน้าสักที รู้สึกเหมือนเป็นหนูติดกับอยู่ในเมืองหลวง หมดไปแม้กระทั่ง “กำลังใจ”

ที่กล่าวมานี้เป็นกลุ่มหนึ่งของสังคม แต่ก็สะท้อนอะไรบางอย่าง ประกอบกับในปัจจุบัน มีอีกหลายกลุ่มที่รอคอยหนึ่งงานที่ใช่สำหรับเขา ด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น กลุ่มคนชราวัยเกษียณที่เสี่ยงกลายเป็นโรคซึมเศร้ารอคอย

งานที่จะให้ความรู้สึกที่มีคุณค่าและสุขภาพจิตที่ดีที่มากับงาน กลุ่มสตรีที่ต้องใช้เวลาดูแลครอบครัวรอคอยงานที่ได้เงินแต่ก็ให้เวลาเลี้ยงลูกกับเธอ หรือ เด็กนักเรียนนักศึกษาที่ต้องต้องดูแลพ่อแม่ในสังคมผู้สูงอายุ (ageing society) ก็รอคอยงานที่สามารถให้เวลาเรียนไปด้วยและปลอดภัยที่จะทำ โดยผู้เขียนสังเกตว่า นอกจากงานประจำแล้ว กลุ่มเฉพาะเหล่านี้ยังต้องการช่องทางการหางานเสริมหรืองานพาร์ทไทม์ (Part-time Jobs) ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ชีวิตในแต่ละช่วงชีวิตอีกด้วย ติดก็แต่ยังไม่มีระบบรวมศูนย์กลางที่เป็นเสมือนตลาดแพลตฟอร์มการหางานที่ได้รับการรับรองข้อมูลและความปลอดภัยโดยภาครัฐ

ในมุมมองของผู้เขียนเอง ประเทศไทยมีอีก 76 จังหวัด โดยแต่ละจังหวัดมีพื้นที่ และมีศักยภาพมากมายที่จะให้ผู้คนอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้หรือการเงิน หากแต่หมายถึงอากาศบริสุทธิ์ การได้สานต่อเอกลักษณ์ท้องถิ่นของบ้านเกิด หรือแม้กระทั่งการได้อยู่ดูแลพ่อแม่ด้วยตัวเองและไม่ใช่แค่โอนเงิน

หากเพียงแต่มี 1.ระบบการสร้างงานและจัดหางานที่ตอบสนองกับความต้องการเฉพาะตัวในแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน 2. การพัฒนาความเชื่อมั่นในระบบการจัดหางาน และความคิดความสามารถของทรัพยากรบุคคล และ 3. การพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้เป็นที่ชัดเจน เพื่อที่การเรียน การสอน และการฝึกงานจะสร้างคนที่สามารถเข้ากับลักษณะงานและความเป็นอยู่ของท้องถิ่น

ผู้เขียนเชื่อว่า การจัดให้มีระบบแพลตฟอร์มการสร้างและจัดหางานที่ตอบสนองกับความต้องการเฉพาะตัวในแต่ละกลุ่มดังที่กล่าวไปในข้างต้นนี้ สามารถเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐมีข้อมูลของประชากรในประเทศที่เป็นทรัพยากรบุคคลและข้อมูลอุตสาหกรรมต่างที่ต้องการแรงงานที่ค่อนข้างครบถ้วน ส่วนบริษัทเอกชนก็มีความเชี่ยวชาญในแง่เครื่องมือและเทคโนโลยีการจัดหางาน