posttoday

ค่าจ้างขั้นต่ำต้องสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

02 ธันวาคม 2562

สัปดาห์ที่แล้วมีการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างมีวาระพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งปีนี้ไม่ได้ปรับทั้งที่ผ่านบอร์ดค่าจ้างไปแล้วแต่เผอิญมีอุบัติเหตุทางการเมืองที่ตัวแทนฝ่านรัฐบาลทั้งระดับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงแรงงานไขก๊อกออกไปก่อนเพื่อเตรียมตัวเป็นส.ว.

สัปดาห์ที่แล้วมีการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างมีวาระพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งปีนี้ไม่ได้ปรับทั้งที่ผ่านบอร์ดค่าจ้างไปแล้วแต่เผอิญมีอุบัติเหตุทางการเมืองที่ตัวแทนฝ่านรัฐบาลทั้งระดับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงแรงงานไขก๊อกออกไปก่อนเพื่อเตรียมตัวเป็นส.ว.

หลังจากนั้นเข้าสู่โหมดเลือกตั้งลากยาวไปถึงเดือนกรกฎาคมจึงฟอร์มตั้งรัฐบาล แล้วยังเจอปมถวายสัตย์ไม่ครบกว่าจะจบสิ้นกระบวนการต่างๆ เข้าไปถึงเดือนสิงหาคม ขนาดพรบ.งบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาทจนถึงเดียวนี้ยังอยู่ในขั้นพิจารณาของกรรมาธิการกว่าจะประกาศใช้อาจเป็นปลายมกราคมปีหน้า ซึ่งจะมีผลต่องบลงทุนของรัฐบาลล่าช้า

กลับมาที่บอร์ดค่าจ้างได้หยิบยกการพิจารณาอัตราค่าจ้างที่จะใช้ในปีพ.ศ.2563 ซึ่งในช่วงเวลาเศรษฐกิจขาลงภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม-บริการกำลังย่ำแย่แบบนี้ยังจะมีใครกล้าที่จะออกมาหาเสียงเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

เหตุเพราะสภาวะทางเศรษฐกิจที่ประชาชนกำลังประสบ คือ การส่งออกหดตัวกระทบลามเป็นลูกโซ่ไปทั้งซัพพลายเชน ภาคเกษตรอยู่ในช่วงภัยแล้งและที่แปลกราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะยาง ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อยเพื่อการผลิตน้ำตาล ฯลฯ จนรัฐบาลต้องออกมากำหนดราคาประกันราคาสถานประกอบการต่างๆ

ก่อนจะเข้าประเด็นปรับค่าจ้าง ขอนำภาพรวมเศรษฐกิจซึ่งสัมพันธ์กับการจ้างงาน หรือ การตกงาน ขอยกมาเฉพาะภาคการผลิตซึ่งมีแรงงานอยู่ประมาณ 6.2 ล้านคนอยู่ในช่วงทรงตัวไปจนถึงทำงานไม่เต็มชั่วโมง ทำให้ต้องมีการลดกำลังการผลิต บางแห่งถึงขั้นต้องประกาศปิดงานชั่วคราว

ซึ่งนัยว่ามีจำนวนมากกว่า 260 แห่งยอมจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 เพราะไม่มีคำสั่งซื้อกระทบไปถึงแรงงานประมาณ 1.5 – 1.8 แสนคน กลุ่มคนเหล่านี้มีความเสี่ยงฝากความหวังปีหน้าซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนเศรษฐกิจจะกลับมาดีจะได้กลับเข้ามาทำงาน

แต่แรงงานหลายโรงงานอาจไม่ต้องลุ้นเพราะมีการปิดโรงงานถาวรซึ่งตัวเลขไม่แน่นอนอยู่ประมาณ 1,500 – 2,000 กิจการ

ผมมีโอกาสได้พูดคุยทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับองค์กรกับผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานตลอดจนสหภาพแรงงานเป็นสิบๆแห่ง ทราบว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่จำกัดแค่ขนาดเล็กแม้แต่โรงงานขนาดใหญ่ซึ่งเป็นธุรกิจข้ามชาติทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหรรมเหล็ก ฯลฯ

ส่วนใหญ่ทำงานไม่เต็มกะ-ค่าล่วงเวลาหาย แต่ดีกว่าต้องปิดโรงงานหรือบางแห่งเปิดโครงการสมัครใจลาออกหรือโครงการจากกันด้วยดี รวมไปถึงโครงการเกษียณงานก่อนเวลา โรงงานขนาดใหญ่ของต่างชาติแห่งหนึ่งมีการเอาคนออกในลักษณะนี้ถึง 500 คน ที่บอกสมัครใจพวกแรงงานเขาบอกว่าถึงไม่สมัครใจก็ต้องออกหรือถูกให้บีบออกอยู่ดี

เนื่องจากตำแหน่งไม่มีทั้งถูกดิสรัปคุกคามจากพิษเศรษฐกิจและเทคโนโลยีออโตเมชั่นต่างๆ ทำให้ไม่ต้องใช้คนมากเหมือนเดิม

จากข้อมูลที่ทราบตัวเลขพวกนี้อาจจะเป็นหลักแสนคน แต่ไม่ปรากฏอยู่ในตัวเลขการว่างงานเพราะเป็นการสมัครใจลาออกจากงานเอง ทำให้อัตราการว่างงานอยู่ในอัตราต่ำไม่สะท้อนความเป็นจริง

อย่างไรก็ตามหน่วยงานของรัฐออกมาระบุว่าถึงแม้เศรษฐกิจจะไม่ค่อยดีแต่ไม่ได้กระทบกับภาวะการจ้างงาน

ที่กล่าวเพื่อโยงให้เห็นว่าการพิจารณาค่าจ้างที่จะประกาศใช้ปีหน้าจะต้องพิจารณาให้รอบคอบนำประเด็นเศรษฐกิจใช้ตัวเลขที่จับต้องได้โดยเฉพาะการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ (GDP) คาดว่าจะขยายตัวลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 4.1 เหลือเพียงร้อยละ 2.6 เป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี

ด้านค่าใช้จ่าย-ค่าครองชีพที่สูงใช้ความรู้สึกไม่ได้ เพราะในตลาดมีทั้งของถูกของแพงให้เลือกต้องนำตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของกระทรวงพาณิชย์ที่มีแนวโน้มต่ำจนน่าวิตก เดือนตุลาคมที่ผ่านมาขยายตัวแค่ 0.11 จนรัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะๆ

ล่าสุดกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ช่วยเงินดาวน์รายละห้าหมื่นบาทเพราะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับก่อสร้างอยู่ในช่วงวิกฤตหนัก ขณะที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้มีการตกงาน

กลับมาที่การปรับค่าจ้างทราบว่าการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมายังหาขอสรุปไม่ลงตัว ประเด็นที่เห็นตรงกันคืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำกทม.-ปริมณฑลและจังหวัดภูเก็ตอัตราวันละ 6 บาท

ส่วนประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ คือ จังหวัดอื่นๆ ที่ทางลูกจ้างต้องการปรับ 5 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ขณะที่ฝ่ายนายจ้างเห็นว่าอัตราที่เหมาะสมขั้นต่ำคือ 2 - 5 บาทไม่เท่ากันแล้วแต่ค่าครองชีพของแต่ละจังหวัด

ไม่ว่าที่สุดแล้วบอร์ดคณะกรรมการค่าจ้างซึ่งมีทั้งผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้างและตัวแทนรัฐบาลจะเคาะอัตราออกมาเท่าใด

ควรใช้เหตุผลนำประเด็นเศรษฐกิจที่เป็นจริงและความสามารถของนายจ้างภายใต้ยามที่เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางทำให้ภาคเอกชนส่วนใหญ่มีความอ่อนแออาจมีจำนวนไม่มากที่ขยายตัวได้ดีแต่ส่วนใหญ่อยู่สภาวะชะลอตัวไปจนถึงทรุดตัวแรงงานที่อยู่ในกลุ่มเหล่านี้มีความเสี่ยง

ปี พ.ศ.2563 จากการประเมินทั้งของธนาคารโลกและศูนย์วิจัยเศรษฐกิจหลายสำนักของไทยชี้ตรงกันว่าทิศทางเศรษฐกิจจะหนักกว่าปีนี้ สภาวการณ์เช่นนี้ยากที่จะประเมิน เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ไม่เหมือนเดิมมีทั้งการเข้ามาของ “Disruptive Technology” การลงทุนใหม่จะใช้เอไอและไอโอที-ออโตเมชั่นทำให้การจ้างงานใหม่จะลดน้อยถอยลง

ตลาดแรงงานขณะนี้อาจยังไม่น่าวิตกแต่ภายในได้ซ่อนปัญหาไว้ ภาคเอกชนส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะอ่อนแอ, ออเดอร์หาย, เงินตึงเห็นสัญญาณ "NPL" สูงขึ้น กำลังการผลิตลดลง-การจ้างงานเริ่มเห็นสัญญาณทางลบภาพขณะนี้คือไม่รับคนเพิ่มซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานในปีหน้า

ค่าจ้างขั้นต่ำปรับได้แต่ต้องสอดคล้องกับเศรษฐกิจ รัฐบาลหรือนักการเมืองต้องไม่เอาประเด็นการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว ด้านค่าครองชีพรัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าโดยเฉพาะระบบค้าปลีกของไทยเป็นกึ่งผูกขาดแต่ละรายประกาศตัวเลขกำไรมหาศาล

ราคาสินค้าขณะนี้ไม่ควรขยับเนื่องจากไม่มีปัจจัยเอื้อทางด้านต้นทุน หากปรับค่าจ้างที่สูงจะกลายเป็นว่าเงินที่ได้เพิ่มกลับน้อยกว่าราคาสินค้าที่ปรับขึ้น...จริงไหมครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)