posttoday

ควันหลง...ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเทพฯได้อะไรบ้าง

11 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์เศรษฐกิจรอบทิศ

การประชุม "35th Asean Summit" ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเสร็จไปตั้งแต่อังคารที่แล้ว แต่ขอเป็นควันหลงเขียนบทความไม่ให้ตกขบวน อาเซียนซัมมิทได้พัฒนาการกลายเป็นประชุมระดับโลกและกำลังยกระดับไปสู่หุ้นส่วนความร่วมมือเศรษฐกิจภูมิภาค (RCEP)ที่มีประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรียเลีย, นิวซีแลนด์เข้าร่วมเป็นภาคีทำให้มีเศรษฐกิจใหญ่เป็น 1 ใน 3 ของโลก

ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจรวมถึงสหรัฐอเมริกา การจัดครั้งนี้ทำได้ดี ประเทศไทยกลายเป็นข่าวทั่วโลกเป็นการล้างตาการประชุมเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่พัทยาซึ่งถูกเสื้อแดงบุกโรงแรมจนผู้นำแต่ละประเทศหนีตายกลายเป็นตราบาปของประเทศ

"อาเซียน" เมื่อสี่ปีที่แล้วยกระดับเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ซึ่งเป็นสหภาพศุลกากรเปิดตลาดการค้าเสรีและการลงทุน เป็นการเดินทางไกลที่คุ้มค่าทำให้การค้าในภูมิภาคเฟื่องฟูภายใต้ FTA

มีสินค้าหลากหลายจากประเทศสมาชิกให้เลือกช็อปทำให้มีการแข่งขันตั้งแต่ลูกกวาดไปจนถึงรถยนต์มีการย้ายฐานการผลิตแต่ละประเทศสมาชิกสามารถลงทุนได้ร้อยละ 70 เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีของไทยที่เห็นโอกาสสามารถไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านทำให้ระบบการผลิตพึ่งพากันเป็นโซ่อุปทานเดียวกัน

หากถามว่า "อาเซียนซัมมิท" ครั้งนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพได้อะไรที่เห็นชัดเป็นชิ้นเป็นอันคือข้อตกลง "Indo-Pacific Business Forum" ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลักดันโปรเจคนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

โดยหวังให้สหรัฐฯกลับมามีบทบาทในภูมิภาคและเป็นการบาลานซ์จีน โดยมีการขนนักธุรกิจระดับแนวหน้าแห่กันมามากกว่า 200 คนนำโดยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ แต่การประชุมล้มไม่เป็นท่าเพราะถูก 7 ผู้นำอาเซียนบอยคอตส่งเพียงระดับรัฐมนตรีเข้าประชุมมีเพียงผู้นำไทย เวียดนามและสปป.ลาวเท่านั้นที่เข้าร่วม

เหตุเพราะประธานาธิปดีทรัมป์เบี้ยวไม่มาเป็นครั้งที่สอง ส่งผู้แทนเป็นแค่ระดับที่ปรึกษาความมั่นคงเป็นการไม่ให้เกียรติแก่ผู้นำอาเซียน แรงกระเพื่อมตกไปอยู่กับสหรัฐอเมริกาและอาจมีผลกับการประชุมครั้งต่อไปที่จะจัดที่สหรัฐฯในช่วงต้นปีหน้า

งานนี้ประเทศจีนได้ใจไปเต็มๆ ที่ผ่านมาให้ความสำคัญอาเซียนมาโดยตลอด คราวนี้ส่ง นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนมาประชุมทำให้ท่าทีของอาเซียนเพิ่มดีกรีหันไปร่วมมือกับจีนมากขึ้น ซึ่งจีนได้โอกาสให้ยาหอมพร้อมจะเจรจาปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เป็นประเด็นขัดแย้งกับเวียดนามและฟิลิปปินส์

ประเด็นสำคัญของการประชุมเป็นไฮไลท์คือ "RCEP" เป็นโรดแมปของอาเซียนไปสู่ความร่วมมือที่เข้มข้นมากกว่าเดิมโดยยกระดับเป็น "Asean+6" ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่การประชุมที่พนมเปญเมื่อพ.ศ.2555

โดยหวังจะเป็นการเชื่อม 16 ประเทศเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกในลักษณะ "Global Supply Chain"ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านการค้าและการลงทุนเสรีร่วมถึงเคลื่อนย้ายการเงินให้สะดวก

หากสำเร็จจะทำให้เป็นเขตเศรษฐกิจมีประชากรวมกันครึ่งหนึ่งของโลกเป็นเขตการค้าร้อยละ 29 ของโลก จีดีพีรวมกันมากกว่า 28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐสัดส่วนร้อยละ 32.3 ของโลก "RCEP" เดิมคาดว่าจะมีข่าวดีว่าจะตกลงกันได้จะทำให้ไทยได้หน้าจารึกไว้ในประวัติศาสตร์

มีการประชุมจนดึกของคืนก่อนวันแถลงการณ์ร่วมปรากฏว่าผู้นำอินเดียเปลี่ยนใจทำให้เจรจาค้างหาข้อยุติไม่ได้ที่จะไปลงนามประเทศเวียดนามกลายเป็นหมันต้องมีการเจรจาระดับทวิภาคีกับคู่กรณีกันเอง

หากถามว่าไทยได้อะไรจากการประชุมครั้งนี้บอกได้ว่ามีมากเพราะเป็นหน้าเป็นตาเป็นข่าวใหญ่ ทั่วโลกซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อด้านการท่องเที่ยว การประชุมครั้งนี้เป็นระดับนานาชาติมีการประชุมคู่ขนานมากมาย

ผู้เข้าประชุมมีตั้งแต่เลขาธิการสหประชาชาติ, ผู้นำประเทศระดับประธานาธิปดี, นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของประเทศดังๆ เข้ามาจับมือกับ "บิ๊กตู่" เป็นการยอมรับให้เครดิตการเป็นผู้นำโดยปริยายประเด็นที่ฝ่ายค้านอ้างว่าต่างชาติไม่ยอมรับคงตกไป อีกทั้งมีการประชุมนอกรอบกับนายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐฯเกี่ยวกับการตัดจีเอสพี ดูเหมือนว่าสหรัฐอเมริกาเปิดช่องให้เจรจาแถมบอกว่าเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยคุยกันได้แต่จะรู้เรื่องหรือเปล่าไม่ทราบ

"RCEP" เดินมาถึงจุดนี้เห็นด้วยไม่เห็นด้วยที่สุดคงเกิดแน่นอนเพราะหากสมาชิกทุกประเทศเขาเอากันไทยไม่เอาก็ตกขบวน ประเด็นคือต้องเร่งปรับเปลี่ยนจุดอ่อนของประเทศโดยเฉพาะระบบราชการและคนของรัฐซึ่งบางส่วนตัวตนอยู่ในยุค 2.0 แต่ใส่สูทยุค 4.0 ทับไว้ จะต้องเปลี่ยนบทบาทราชการจากผู้กำกับ-คอยจับผิดเอกชนต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนแข่งขันให้ได้

ตลอดจนเร่งแก้กฎหมายข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคจะยกเครื่องปฏิรูปกันอย่างไรก็ให้รีบทำไม่ต้องรอไปถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ธุรกิจของเจ้าสัวใหญ่ๆหรือบริษัทระดับข้ามชาติไม่ต้องห่วงเขาไปได้แน่นอน ที่สำคัญต้องดูธุรกิจตัวเล็กๆ พวกเอสเอ็มอี ธุรกิจและอุตสาหกรรมในต่างจังหวัดรวมถึงเศรษฐกิจชุมชนจะรับมือกับสินค้าราคาถูกจากจีนก็หนักแล้วต่อไปจะเป็นอินเดีย เวียดนามและอินโดนีเซียทะลักเข้ามาอีกจะสู้เขาไหวไหม จะอยู่กันอย่างไร

ตรงนี้เป็นช่องว่างจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในอนาคตให้สูงขึ้น...เดินหน้าแล้วต้องแลข้างหลังบ้างนะครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)