posttoday

ธนาคารโลกจับตาความไม่แน่นอนการเมืองไทย...ปรับลดเศรษฐกิจติดขอบค่าเฉลี่ยของโลก

28 ตุลาคม 2562

คอลัมน์เศรษฐกิจรอบทิศ

คอลัมน์เศรษฐกิจรอบทิศ

ท่ามกลางแต่ละวันเสพแต่ข่าวที่หดหู่เริ่มตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจที่ซึมกับซึม การเมืองแบบไม่สร้างสรรค์แค่ขับรถปาดหน้ากันด่าทอคนไทยทั้งประเทศ เรื่องพวกนี้รับไม่ได้จริงๆ

ในเวลาช่วงเวลานี้ข่าวดีๆ ก็พอมีบ้างนอกจากกรรมการวัตถุอันตรายแบนสารพาราควอต ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของสารเคมีอันตรายช่วยชีวิตคนไทยเป็นอานิสงค์ แต่ที่จะนำเป็นไฮไลท์ปลายสัปดาห์ที่แล้วธนาคารโลกหรือ "World Bank" ปรับอันดับ "Doing Business 2020" เกี่ยวข้องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจไทยได้คะแนนดีเด้งจากอันดับที่ 27 ใน 190 ประเทศเป็นอันดับ 21 สูงสุดในรอบ 6 ปี

เป็นรองแค่สิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับ 2 และมาเลเซียอยู่อันดับที่ 12 แต่เนื้อคะแนนใกล้เคียงกัน อันดับที่สูงขึ้นนักลงทุนต่างชาติเขาใช้ในการประกอบการตัดสินใจที่จะลงทุนเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ

แต่ในช่วงเดียวกันธนาคารโลกออกแถลงการณ์หั่นการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยปีนี้เหลือร้อยละ 2.7 ลดจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ตัวเลขนี้ถือว่าไม่ค่อยจะดีเพราะใกล้ติดขอบค่าเฉลี่ยของโลกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เหตุผล "เวิลด์แบงก์" มีความกังวลความไม่ชัดเจนของมาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลผ่านมาครึ่งปีไม่ค่อยมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

อีกทั้ง มีการประเมินความเสี่ยงการเมืองปริ่มน้ำมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลกระทบความเชื่อมั่น ประเด็นที่เวิลด์แบงก์กังวลเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงไทยพึ่งพาการค้าโลกในสัดส่วนที่สูงมาก ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนบวกกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทแข็งค่าสูงสุด (30.282 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) ส่งผลต่อการส่งออกตลอดจนภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีอัตราหดตัวสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค

ปัญหาพวกนี้พวกเรารู้ดีอยู่แล้วไม่ต้องให้ฝรั่งต่างชาติออกมาเตือน ที่ผ่านมารัฐมนตรีบางคนซึ่งเป็นขั้วอำนาจก่อนเลือกตั้งไม่ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเพราะเท่ากับไปลงที่ตัวเองที่มัวไปมุ่งลงทุนโครงการเมกะโปรเจคและอีอีซีซึ่งเป็นการลงทุนหวังผลระยะยาว

เม็ดเงินจำนวนมากไปกระจุกตัวอยู่ที่ทุนใหญ่ที่ออกมาเซ็งแซ่ขานรับว่าเศรษฐกิจดีขณะที่เงินจำนวนน้อยลงไปรากหญ้า แล้ววันนี้เป็นไงออกมายอมรับว่าเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับหมดเหลือแต่ภาคท่องเที่ยว ปัญหาเศรษฐกิจจึงเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลยิ่งกว่าคะแนนเสียงปริ่มน้ำแต่ล่าสุดได้คุณเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เข้ามาช่วยยกมือหนุนในสภาฯ แต่คงไม่พอต้องมีกองหนุนประเภทงูเห่าเปลี่ยนข้างมาช่วยเสริม

รัฐบาลรู้ปัญหาดีว่าเศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอมีการออกมาตรการชิม-ช็อป-ใช้ กระตุ้นการบริโภควงเงิน 1.0 หมื่นล้านได้รับการตอบรับดีคงเป็นแค่น้ำจิ้ม ตามมาด้วยกระตุ้นเศรษฐกิจก็อก 2 หวังผลิกฟื้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายมีมาตรการชิม-ช็อป-ใช้เฟส 2 วงเงินน้อยกว่าเดิมลดผู้รับสิทธิ์จาก 10 ล้านคนเหลือเพียง 3 ล้านคนแถมให้สิทธิ์คืนเงินร้อยละ 20 แต่ประชาชนต้องจ่ายก่อน

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นแพ็คเกจ เช่น กระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยที่กำลังร่อแร่มีการลดค่าจดจำนองเหลือร้อยละ 0.01 ให้ธอส.ปล่อยสินเชื่อวงเงิน 5.0 หมื่นล้านดอกเบี้ยคงที่สามปี

มาตรการนี้จะได้ผลหรือเปล่าไม่แน่ใจเพราะแบงค์ระมัดระวังการปล่อยเงินกู้แถมธนาคารแห่งประเทศไทยคุ้มเข้ม "แอลทีวี" เพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสียทำให้มนุษย์เงินเดือนที่อยากได้ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นคอนโดและทาวน์เฮ้าส์ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เนื่องจากติดเครดิตบูโร หรือ ความไม่น่าเชื่อถือของผู้กู้รวมถึงความไม่แน่นอนของการจ้างงานการฟื้นตัวของภาคอสังหาฯ อาจไม่ได้เห็นกันในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ยังมีมาตรการกระจุ๋มกระจิ๋ม เช่น เร่งรัดเบิกจ่ายด้านฝึกอบรม-สัมมนาของราชการ ตลอดจนการกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวมากขึ้นคงไม่เห็นผลอย่างเป็นนัยเพราะเม็ดเงินไม่มาก การหวังที่จะประคองเร่งเศรษฐกิจช่วงไตรมาสสุดท้ายให้จีดีพีมีตัวเลขสวยๆ คงต้องมีลุ้นมากกว่านี้

ภายใต้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจขาลง ซึ่งลากยาวแน่นอนควรมีมาตรการเฝ้าระวังตลาดแรงงาน เนื่องจากภาคการผลิตออเดอร์ลดลง กำลังการผลิตอุตสาหกรรมเหลือเกือบ 1 ใน 3 เริ่มเห็นสัญญาณทางลบ โรงงานเล็ก-ใหญ่ทำงานไม่เต็มเวลามีการปิดตัวเป็นข่าวให้พบเห็น แม้แต่โรงงานอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ที่แหลมฉบังซึ่งเป็นของนักการเมืองชื่อดังยังเบรกปิดโรงงาน 3 เดือน

ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ขณะนี้อยู่ในช่วงทรงตัวแทบจะไม่รับแรงงานเพิ่มหรือบางรายทรุดตัวมีการเอาคนออกจากงาน การที่จะเห็นการลงทุนระยะสั้นเป็นเรื่องเป็นราวคงไม่ต้องกล่าว คงมีแต่ธุรกิจระดับบิ๊กๆ หรือระดับเจ้าสัวที่ยังขยายงานจากโครงการประมูลของรัฐ สำหรับโครงการลงทุนอีอีซีส่วนใหญ่เป็นการขอบัตรส่งเสริมส่วนการลงทุนจริงคงไม่ใช่ในเร็วๆ นี้

ที่กล่าวมาชี้ให้เห็นว่าถึงแม้ตัวเลขการว่างงานของไทยจะต่ำแต่คำนวณโดยใช้สัดส่วนผู้มีงานทำกับกำลังแรงงานในแต่ละช่วงซึ่งขึ้นลงแบบไม่มีที่มาที่ไป ทำให้ไม่แน่ใจว่าตัวเลขการว่างงานมีความน่าเชื่อถือเพียงใด การเตรียมมาตรการรับมือปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวระยะยาวแค่มาตรการกระจุ๋มกระจิ๋ม เช่น ชิม-ช็อป-ใช้คงไม่พอ ควรติดเครื่องมือและการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ ในสภาฯ ผู้แทนทั้งหลายควรลดวาทกรรมพูดจ้อ

ในเวลาเช่นนี้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมถึงผู้คุมอำนาจรัฐต้องช่วยกันทำอะไรดีๆ ให้บ้านเมืองโดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจเพราะเศรษฐกิจดีความมั่นคงก็จะตามมา เวลาเช่นนี้ต้องลดความขัดแย้งช่วยประคับประคองเศรษฐกิจแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน...ดีกว่าครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)