posttoday

ไทยติดกับดักวิกฤตการเมือง...ทางออกที่มืดมน

21 ตุลาคม 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องให้เขียนหลายเรื่องไล่ตั้งแต่วาทะกรรมของบิ๊กแดง, รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสาม สนามบินที่น่าจะลงตัว ตามมาด้วยการแบน-ไม่แบนยาฆ่าวัชพืชพาราควอต ล่าสุดการผ่านร่างพรบ.งบประมาณคะแนนเสียงแบบหวาดเสียว แต่ในฐานะคนที่อยู่ในยุคและอยู่ในเหตุการณ์วิกฤตการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ขอหยิบยกการวิพากษ์การเมืองของศาสตราจารย์ ธีรยุทธ บุญมี อดีตแกนนำนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยจนต้องระเห็จไปอยู่ในป่าหลายปีเป็นต้นแบบคลาสสิคของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง สรุปอย่างสั้น ๆ ได้ว่าไทยมีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองใหญ่ ๆ มาหลายครั้ง แต่ช่วงที่ผ่านมาเป็นการขัดแย้งทางความคิดคู่ขัดแย้ง เช่น กลุ่มเสื้อแดงที่เชียร์คุณทักษิณฯ ไปจนกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อฟ้าและสารพัดสี การก้าวผ่านในอดีตล้วนด้วยการมีทหารออกมาปฏิวัติ

แม้แต่ปัจจุบันไทยยังคงติดกับดักความขัดแย้งเพียงแต่เปลี่ยนคู่กัดเป็นกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ขั้วอำนาจเดิมร่วมมือกับกลุ่มหัวก้าวหน้าประกาศตัวเป็นคนรุ่นใหม่จับมือกันขย่มกลุ่มอนุรักษ์ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแกนนำและเริ่มก่อตัวขัดแย้งกับทหาร ปัญหาของไทยติดหล่มอยู่กับความขัดแย้งอุดมการณ์ทางการเมืองกับความขัดแย้งด้านความมั่นคงไปพร้อมกัน ท่ามกลางโลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของไทยมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกแถมยังเจอปัญหาการเมืองในประเทศไม่รู้จบ โดยรูปแบบของความขัดแย้งจากกลางถนนพัฒนาไปอยู่บนสื่อโซเซียลออนไลน์ซึ่งมีรูปแบบการต่อสู้อย่างเป็นระบบและมีความซับซ้อนต่างไปจากเดิม

ต้องยอมรับว่า 5 ปีเศษของการที่คสช.นำรถถังออกมาปฏิวัติแสดงบทบาทคนกลางที่เข้ามาแก้ปัญหาแต่ผ่านมาจนถึงวันนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกระดับจากกรรมการกลายเป็นคู่ขัดแย้ง การเมืองปริ่มน้ำในในรัฐสภาสะท้อนจำนวนส.ส.ที่แบ่งข้างให้เห็นจุดยืนที่ชัดเจนว่าอยู่ขั้วใด พรรคอนาคตใหม่เป็นผลพวงของคนรุ่นใหม่ที่คิดไม่เหมือนเดิมต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นกระแสของการเมืองในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศแคนาดา ประเทศฝรั่งเศส แม้แต่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็ยังได้ผู้นำพันธุ์ใหม่ต่างไปจากเดิม

กล่าวกันว่ายุคนี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเพื่อการก้าวผ่านหรือ “Changing & Transformation” แค่สโลแกนมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อาจไม่ตอบโจทย์พลวัตรของการต้องการประชาธิปไตย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ กรณีการประท้วงใหญ่เรียกร้องประชาธิปไตยที่ฮ่องกงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีนยืดเยื้อมา 4 เดือนเศษคงเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนว่าความมั่นคงต้องตอบโจทย์ว่าเพื่อใคร ประเด็นคืออย่าผลักดันให้คนที่มีความคิดต่างซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่หลุดไปอยู่ขอบนอกเพราะพรรคการเมืองที่มีความคิดและอุดมการณ์สุดโต่ง เหตุการณ์ในอดีตบ่งบอกให้รู้ว่าแม้แต่มีส.ส.เป็นร้อยวันนี้พรรคเหล่านั้นล้มหายตายจากไปหมด

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญต้องมีการแก้ไขแต่ไม่จำเป็นจะต้องไปแตะมาตราที่มีความอ่อนไหวละเอียดอ่อน ขอบเขตการแก้ทั้งส.ส.ฟากรัฐบาล-ฝ่ายค้านและวุฒิสมาชิก คงต้องมีการประนีประนอมแก้ไขบางมาตราที่ประชาชนไม่ยอมรับ ไม่อยากให้ประเด็นดังกล่าวทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองกลับมาซึ่งคงไม่ดีต่อด้านความมั่นคง ตลอดจนด้านเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับปากท้องชาวบ้าน ที่ผ่านมาความขัดแย้งทางการเมืองไปกระทบเรื่องเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสไปมากเพราะอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าเลือกที่จะไปลงทุนในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย

หากถามว่าทางเดินของไทยในศตวรรษที่ 21 จะไปทางไหนคำตอบยังอึมครึมเพราะหากแกนนำของขั้วต่าง ๆ ที่ชักนำความคิดของประชาชนให้คล้อยตามยังย่ำอยู่กับความขัดแย้งเดิม ๆ กลุ่มที่บอกว่ามาจากคนรุ่นใหม่ก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีคนหลายยุค-หลายวัย-หลายความคิด หล่อหลอมเป็นองคาพยพ แนวคิดสุดโต่งอาจไม่เป็นที่ยอมรับ แม้แต่คนรุ่นใหม่เมื่ออายุมากขึ้นความคิดและอุดมการณ์ก็เปลี่ยน

การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยคือทำอย่างไรให้คนที่มีความเห็นแตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ ตัวเล่นไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ ทหาร รวมถึงกองเชียร์ที่เป็นประชาชนต่างต้องยอมรับกติกา มิฉะนั้นก็ยังติดกับดักการเมืองน้ำเน่าทำให้วงจรอุบาทว์จะกลับมาเป็นวงจรไม่รู้จบ...สงสารประเทศไทยจริง ๆ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)