posttoday

ม็อบฮ่องกง...ไทยต้องแสดงจุดยืน

14 ตุลาคม 2562

โดย  ดร.ธนิต  โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย  ดร.ธนิต  โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

พฤหัสบดีที่แล้วเอกอัครราชทูตสาธาณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้โพสต์เพจเฟสบุ๊คใน “Chinese Embassy In Bangkok” ข้อความส่วนหนึ่งระบุว่านักการเมืองไทยบางคนมีการติดต่อกับกลุ่มที่คิดจะแบ่งแยกฮ่องกงออกจากประเทศจีน มีท่าทีเชิงสนับสนุนเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงและกำชับว่าปัญหาของฮ่องกงขอให้ (ไทย) ใช้ความระมัดระวังทำในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อมิตรภาพจีน-ไทย ปกติทางการจีนมีความระมัดระวังการแสดงความเห็นผ่านสื่อออนไลน์ท่าทีของทูตจีนถึงจะเขียนนุ่มนวลแต่แฝงความกร้าวเตือนนักการเมืองไทย (บางคน) ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

คำถามว่านักการเมืองที่ระบุเป็นใครหากย้อนดูในช่วงที่ผ่านมาไม่พบใครเป็นนัยเว้นแต่เมื่อ  6 ตุลาคม 2562  นายโจชัว หว่อง แกนนำผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงโพสต์รูปที่ถ่ายคู่กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่บนหน้าเพจเฟซบุ๊กของตนเอง โดยระบุว่ามีโอกาสได้พบกันระหว่างร่วมงานประชุม “Open Future Forum” ในฮ่องกงจัดขึ้นโดยนิตยสาร “อีโคโนมิสต์” (Economist) โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นการเคลื่อนไหวและแนวทางผลักดันกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งประเด็นนี้จะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่ทางสถานทูตจีนได้โพสต์ข้อความหรือไม่ หากถามผมก็คงตอบว่าไม่ทราบให้เอาไปคิดกันเอง

ม็อบฮ่องกงมีความอ่อนไหว ความวุ่นวายถูกยกระดับเป็นการแยกตัวซึ่งแน่นอนทางจีนและประชาชนจีนรับไม่ได้ การที่มีหัวหน้าพรรคการเมืองแกนนำฝ่ายค้านไปยืนโพสต์รูปคู่กับแกนนำม็อบ ถึงแม้ระดับรัฐบาลของจีนรู้จุดยืนของไทยและเรื่องราวต่าง ๆ ดีอยู่แล้วเพราะไทยกับจีนต่างไม่ยุ่งกิจการภายในเหมือนครั้งที่มีการปฏิวัติ-รัฐประหาร จีนเป็นประเทศแรก ๆ ที่รับรองไทยบนเวทีโลกแต่ในระดับการรับรู้ของประชาชนของจีนซึ่งเสพข้อมูลออนไลน์ไม่แพ้ไทยอาจไม่เข้าใจและไม่พอใจว่าเราไปสนับสนุนกลุ่มแยกแผ่นดินของเขา

รัฐบาลควรแสดงจุดยืนหรือแถลงการณ์หรือเชิญทูตจีนให้มาพบว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของนักการเมืองคนนั้นไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและประชาชนคนไทย ประเด็นนี้มีนักวิชาการหลายคนต่างแสดงความคิดเห็นในทำนองเดียวกันนี้ ท่าทีของเอกอัครราชทูตจีนประจำไทยที่แสดงออกมาถือว่าไม่ธรรมดา กรณีจีนความเห็นที่ออกมาจากข้าราชการระดับสูงหรือระดับทูตไม่ใช่พูดเล่น ๆ เหมือนนักการเมือง-รัฐมนตรีของไทยแต่เขาแฝงนัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้อย่างชัดเจน หากถอดคำต่อคำในเฟสบุ๊คออกมาจะเห็นชัดเจนว่าเขาต้องการสื่อสารอะไร

ด้านความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลไทยกับจีนถือว่าอยู่ในระดับดีกว่าหลายประเทศวันครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งประเทศมีการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด “รัฐมิตรภรณ์” ให้กับกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ด้านเศรษฐกิจจีนเป็นคู่ค้าส่งออกลำดับที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกาปีนี้น่าจะมีมูลค่า 28,486  ล้านเหรียญสหรัฐขณะเดียวกันจีนเป็นนักลงทุนในระดับต้น ๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทย ด้านท่องเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่สุดปีละมากกว่า 10 ล้านคนอาจวุ่นวายบ้างตามประสาจีนหรือแอบเข้ามาทำงานขายของแย่งอาชีพกับ   คนไทย แต่โดยภาพรวมนักท่องเที่ยวจีนในยามที่เศรษฐกิจของเราเครื่องยนต์ขับเคลื่อนดับหมดจึงต้องพึ่งเขา

เกาะฮ่องกงหรือเซียงก่างเป็นเขตปกครองพิเศษมีความละเอียดอ่อนลามไปถึงประกาศจะแยกตัวไม่ยอมรับระบบสังคมนิยม เดิมอังกฤษบังคับเช่าเป็นเวลา 99 ปีโดยได้คืนให้จีนเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 แต่คนรุ่นใหม่อยากจะให้แยกตัวออกมาเพราะชอบแนวตะวันตกทำให้เกิดเป็นกระบวนการประชาธิปไตยและไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญของจีน เรื่องนี้สอดคล้องกับกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ซึ่งนักวิชาการบางคนและนักการเมืองฝ่ายค้านเอาไปเล่นด้วยการรื้ออดีตต้องการแก่รัฐธรรมนูญมาตรา 1 ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นรัฐเดียวแบ่งแยกไม่ได้จนกลายเป็นคดีฟ้องร้องซ้อนไปซ้อนมา ล่าสุดพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.กล่าวในเวที “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านมั่นคง” ที่หอประชุมกองทัพบก ประกาศกร้าวว่ามาตรานี้แก้ไม่ได้และจะไม่ยอมให้นักการเมืองหรือใครมาแบ่งแยกดินแดน

การรวมชาติเป็นเรื่องประวัติศาสตร์หรืออดีตที่ผ่านมาเป็นร้อยปีมีกันทุกประเทศ ขอยกตัวอย่างบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาสงครามกลางเมืองฝ่ายเหนือ-ฝ่ายใต้รบกันหลายปีตายเป็นล้านวันนี้เขาอยู่ด้วยกันเป็น “America First” ประเทศอังกฤษก่อนมาเป็นวันนี้มีการรวมประเทศสก็อตแลนด์รบกันเป็นร้อยปีกลายเป็นหนังดังฮอล์ลี่วู้ดเรื่อง “วิลเลียม วอลเลซ” คงได้เคยดูกันบ้าง, ประเทศญี่ปุ่นก่อนหน้าเป็นแคว้นอิสระมีการรวมประเทศสมัยโทกุงาวะและอีกครั้งเมื่อประมาณร้อยปีเศษต้นสมัยราชวงศ์เมจิ แม้แต่สปป.ลาว มีการรวมหลวงพระบาง, เวียงจันทร์, จำปาศักดิ์ มาสำเร็จในสมัยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส

ที่เล่ายืดยาวเพื่อโยงมาถึง 3 จังหวัดภาคใต้เดิมเป็นอาณาจักรปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของสยามมาอย่างน้อยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ต่อมาผนวกเป็นมณฑลในสมัยรัชกาลที่ 5 การที่อาจารย์บางคนและนักการเมือง   รื้อฟื้นตะเข็บประวัติศาสตร์หนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญสามารถเป็นเขตปกครองพิเศษซึ่งในอนาคตจะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะนำความแตกแยก เรื่องราวในประวัติศาสตร์ควรเป็นงานวิชาการอย่าดึงเป็นประเด็นการเมืองเพียงเพื่อหวังคะแนนเสียงคนไทยควรแยกแยะนักการเมืองประเภทนี้ให้ออก แม้แต่ประเทศจีนก็เพิ่งผนวกประเทศทิเบตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเมื่อ 70 ปีนี้เอง ซึ่งพอดีตรงกับปีที่จีนเฉลิมฉลองการตั้งประเทศไปเมื่อ  เร็ว ๆ นี้ ปัญหาม็อบฮ่องกงปล่อยให้จีนเขาแก้ไขกันเองอย่าไปยุ่ง แค่การเมืองในประเทศก็ปวดหัวอย่าไปวุ่นวายจนเขาต้องออกมาเตือน...ไม่ดีนะครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)