posttoday

เกษียณอย่างสมาร์ท...มีความสุขตอนแก่ทำได้อย่างไร

07 ตุลาคม 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

เดือนกันยายนของทุกปีเป็นเทศกาลของข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจที่อายุครบ 60 ปีถึงเวลาต้องเกษียณยกเว้นหน่วยงานที่เกี่ยวกับศาลและอัยการ แต่ละปีมีข้าราชการเกษียณประมาณ 3.87 - 4.0 หมื่นคน สำหรับภาคเอกชนการเกษียณอายุงานหากไม่เข้าโครงการเกษียณก่อนเวลา (Early Retire)หรือสมัครใจลาออกซึ่งปัจจุบันลูกจ้างบางส่วนในสถานประกอบการกำลังประสบอยู่ ส่วนใหญ่การเกษียณการทำงานของภาคเอกชนอยู่ในช่วงสิ้นปีซึ่งกฎหมายกำหนดไว้หากไม่ตกลงกันไว้ก่อนถือเกณฑ์อายุ 60 ปี ลูกจ้างเอกชนแต่ละปีจะมีคนออกจากงานเพราะเกษียณประมาณ 3 – 4 แสนคน

กลุ่มคนที่เกษียณอายุเหล่านี้เป็นผู้มีคุโณปการต่อประเทศเพราะเคยเป็นกำลังแรงงานประกอบอาชีพสาขาต่างๆ ช่วยสร้างชาติสร้างเศรษฐกิจ หากเป็นข้าราชการจัดว่าเป็นผู้เสียสละเพราะเงินเดือนน้อยต้องดูแลสนับสนุนงานในกระทรวงต่างๆ ทั้งงานปกครอง ด้านความมั่นคง งานสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ ด้านค้าขาย การนำเข้า-ส่งออก โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ตลอดจนดูแลเกษตรกรที่สำคัญเป็นฐานหลักผู้จ่ายภาษีนำเงินมาใช้-จ่ายเป็นงบประมาณแผ่นดิน การสูญเสียกำลังคนเหล่านี้โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ความสามารถ สั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนานเป็นเรื่องที่น่าเสียดายทรัพยากรบุคคลอันมีค่า คอลัมน์นี้ถึงออกมาช้าหน่อยขอสดุดีผู้ที่พึ่งเกษียณอายุไปแล้วและกลุ่มที่กำลังจะเกษียณในสิ้นปีเป็นความสูญเสียของชาติ

ประเด็นคือการจัดการชีวิตหลังเกษียณจากนี้ไปให้ยังเป็นคนที่มีคุณค่ามีความสุขตอนแก่ ซึ่งไม่มีใครช่วยได้นอกจากตัวเอง เริ่มจากด้านการเงินหากเป็นภาคเอกชนกฎหมายกำหนดให้ได้เงินชดเชย 10 เท่าของเงินเดือนหรือค่าจ้างสุดท้ายไม่ต่ำกว่า 300 วัน หากเป็นลูกจ้างรัฐวิสาหกิจจะได้ 400 วันและมีเงินต่างๆอีกมากมาย

ขณะที่ราชการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบข.)โดยทั่วไปแหล่งเงินของผู้ที่เกษียณอายุจะมาจากกองทุนเลี้ยงชีพ เงินบำนาญ เงินชดเชยจากประกันสังคมและเงินออมที่เก็บไว้ในช่วงวัยทำงาน แต่คนไทยแก่แล้วส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ทำให้เป็นปัญหาการใช้ชีวิตหลังออกจากงาน

สำหรับผู้ที่มีเงินเก็บเป็นเงินก้อนสุดท้ายอายุถึงปูนนี้อย่าโลภหรือเอาเงินไปให้ใครยืมหรือไปลงทุน มีการจัดลำดับคุณภาพชีวิตหลังวัยทำงานของคนไทยอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำของโลกไม่ติดอยู่ในโพลลำดับ 20 ของโลก ประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ เช่น ออสเตรเลีย, แคนนาดา, เยอรมัน, สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สวีเดน ในอาเซียนมีเพียงสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้รายได้เฉลี่ยจากบำนาญเดือนละประมาณ 5 – 6 หมื่นบาท พวกยุโรป ซึ่งมีอายุยืนเงินเท่านี้ไม่พอใช้ในประเทศเพราะสังคมของเขาลูกไม่ดูแลพอแก่แล้วจึงชอบมา “Long Stay”ที่เมืองไทยโดยเฉพาะแถวอีสานชอบมาหาแฟนคนไทยเป็นภรรยาพร้อมกับเป็นแม่บ้านใช้ชีวิต “Slow Life” แบบสบายๆ ดีทั้งฝรั่งดีทั้งหมู่เฮา

สำหรับคนไทยอาจไม่โชคดีขนาดนั้นเพราะคนสูงอายุมีประมาณ 11-12 ล้านคนเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยต้องแบมือรับเงินจากบัตรสวัสดิการของรัฐเกินกว่าครึ่งรายได้เฉลี่ยประมาณ 80 บาทต่อวัน เฉียดระดับเส้นแบ่งความยากจนของสหประชาชาติที่กำหนดไว้ 1.9 เหรียญสหรัฐ/วัน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรซึ่งพบว่าแรงงานภาคเอกชนที่ออกจากงานหรือเกษียณอายุส่วนใหญ่จะกลับไปชนบทกลายเป็นเกษตรกรยากจนเพราะผลผลิตและราคาไม่แน่นอนพึ่งพาตนเองแทบไม่ได้ ขณะที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยหรือแรงงานเอกชนที่เกษียณแล้วที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บแถมยังเป็นหนี้การดำรงชีวิตในบั่นปลายชีวิตจึงเป็นเรื่องยาก

ปัญหาของไทยคือการผลักดันการขยายเวลาเกษียณทั้งของราชการและเอกชนซึ่งขาดความชัดเจน ขณะที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ คนที่มีอายุ 60 ปีมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีกำลังวังชา-ต้องกินต้องใช้ส่วนใหญ่ร่างกายยังทำงานได้แต่ถูกปลดระวางเสียก่อน ในประเทศที่พัฒนาแล้วรวมถึงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มีการขยายอายุเกษียณจากงานทั้งราชการและเอกชนไปถึง 65 ปีทำให้ไม่เป็นภาระต่อการช่วยเหลือจากภาครัฐสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานหางานที่เหมาะสมทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

คนที่ถูกปลดระวางการทำงานจากเกษียณอายุส่วนใหญ่กลายเป็นคนชราสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของบิ๊กตู่ได้เต็มรูปแบบ ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้สามารถเกษียณอย่างสมาร์ทและดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่นทำให้ยังเป็น “คนสำคัญมีความภูมิใจและศักดิ์ศรี” เมื่อสุขภาพจิตดีก็ย่อมมีผลต่อสุขภาพกายที่ดี ผมเป็นคนหนึ่งที่ปีหน้าอายุจะเข้า 70 ปีทุกวันจันทร์ถึงเสาร์ยังทำงานปกติแถมมากกว่าเดิมด้วยซ้ำเขียนบทความที่หลายท่านคงได้อ่าน ยังสอนหนังสือช่วยงานทั้งระดับชาติและสังคมไม่มีความรู้สึกว่า “ตัวเองแก่” เหตุผลหลักคือการมีงานทำไม่ปล่อยเวลาให้ว่างอย่าทำเป็นคนไร้ราคา- ขี้บ่น-จู้จี้จุกจิก

ขณะที่คนรู้จักและเพื่อนหลายคนอดีตเคยเป็นคนใหญ่โต เช่น รัฐมนตรี อธิบดี พลเอกทั้งทหารและตำรวจใหญ่ยังติดยึดไม่ปล่อยว่างทำให้ไม่มีใครอยากคบหรือพูดด้วย บางคนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทระดับใหญ่ระดับโลกหรือผู้บริหารแบงค์ความรู้มากมาย เกษียณออกมาชวนให้มาทำงานแต่เกี่ยงเงินเดือนบางคนบอกว่าขี้เกียจอยู่แต่บ้านเล่นแต่ไลน์ข้อมูลจริงบ้างไม่จริงบ้างแต่ส่วนใหญ่เก๊กลายเป็นคนเชื่ออะไรง่ายๆ บางคนไม่มีอะไรทำกลายเป็นคนหงอยซึมเศร้า บ้างสมองตีบหรือตายไปก็หลายคนแล้ว ในฐานะผู้ที่ผ่านวัยเกษียณกลายเป็นคนชราของประเทศ อย่าทำตัวเป็นคนไร้คุณค่าต้องมี “Always Value Yourself” หาอะไรทำอย่าเกี่ยงรายได้เงินมากเงินน้อยไม่เป็นไร ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อลูกหลานและสังคมที่สำคัญอย่าติดบ้านจนเกินเหตุจนลามไปติดเตียงแล้วจะยุ่ง....จริงๆ นะครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)