posttoday

Digital Disruption จุดเริ่มและจุดเปลี่ยน (จบ)

06 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ DigiTalk

ตอนที่แล้ว เรากำลังคุยกันเรื่อง Digital Disruption คือ อะไร?! และ ใคร?! ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้ และอย่างที่บอกไปนะคะว่า ในทุกวิกฤติมักมีโอกาสเสมอ และในตอนนี้เรามามองหาโอกาสจากวิกฤตกัน ค่ะ

เล็กใหญ่ไม่สำคัญ แต่เร็วกว่ายิ่งได้เปรียบ

เดี๋ยวนี้ขนาดธุรกิจเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ แต่ความเร็วในการเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ก่อนได้เปรียบกว่าและต้องใช้ให้เป็นเพื่อให้มีประสิทธิภาพด้วย ถ้าคุณรู้สึกว่ายอดขายตกเพราะลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าการทำงานแบบเดิมๆ อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป

คุณควรจะติดตามข่าวสารเทรนด์เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นที่ดูแล้วมันสามารถช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของคุณได้ แล้วไม่ควรรอช้าหรือต่อต้านมัน แต่ควรจะรีบจับนวัตกรรมใหม่นั้นมาใช้เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าก่อนคู่แข่ง เช่น Big Data, AI, Machine Learning หรือ Real Time Technology
ซึ่งใครจะไปรู้ว่าถ้าเรานำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้อาจเพิ่มความสำเร็จเรื่องยอดขายได้ หรือแม้แต่โอกาสในการทำธุรกิจหรือขายสินค้าตัวอื่นๆ ก็เป็นได้นะคะ

ปรากฎการณ์ Digital Disruption สร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่

โมเดลธุรกิจดิจิตอลนั้น ถูกออกแบบขึ้นมาโดยให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าจากการใช้เทคโนโลยี จุดประสงค์ก็เพื่อต้องการให้ลูกค้ายินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการนั้นมา ซึ่งโมเดลธุรกิจดิจิตอลนี้มีหลายประเภทด้วยกัน แต่ดิฉันจะขอยกโมเดลที่น่าสนใจบางตัวมาแสดงให้ดูค่ะ

Experience Model สร้างประสบการณ์ใหม่เพื่อเติมเต็มความฝัน

โมเดลนี้เน้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้ายินดีจ่ายเงินเพื่อแลกกับประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เหมือนใคร เพื่อเติมเต็มความฝันของมนุษย์ เช่น รถยนต์ไร้คนขับของ Tesla โดย Elon Musk และ Virgin Galactic บริษัททัวร์อวกาศ ที่ก่อตั้งโดย Richard Branson

Subscription Model เน้นสมาชิกรายเดือนหรือรายปี

เดี๋ยวนี้การซื้อขายสินค้าแบบขายขาดอาจอยู่ยาก เนื่องจากซอฟต์แวร์บางตัวมีราคาสูงเกินไป คนไม่อยากเสียเงินซื้อ และอาจทำให้เกิดปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ตามมา ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรม Adobe และ Microsoft Office ที่สมัยก่อนต้องจ่ายเงินราคาสูงเพื่อเป็นเจ้าของ

แต่เดี๋ยวนี้ทั้ง Adobe และ Microsoft ปรับโมเดลธุรกิจใหม่โดยใช้รูปแบบ Subscription รายเดือน ในราคาที่จับต้องได้ ตัวอย่างแบรนด์อื่นที่ใช้ Subscription ที่รู้จักกันดีคือ Netflix และ Apple Music

Free Model ใช้ฟรีแต่มีข้อแลกเปลี่ยน

ของฟรีไม่มีในโลกน่าจะเป็นคำที่ยังใช้ได้อยู่ ตัวอย่างของโมเดลธุรกิจนี้ที่เรารู้จักกันดีคือ Facebook, Google, Instagram, Youtube และ Twitter

โดยหัวใจของโมเดลนี้คือข้อมูลของผู้ใช้งานฟรีอย่างเราๆ นี่เอง ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา (รวมไปถึง เพจ/โพสต์ที่เรากดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม) คือสินค้าหลักของโมเดลธุรกิจนี้ ซึ่ง Social Media เหล่านี้ใช้ข้อมูลของเราในการสร้างรายได้ เช่น โฆษณา เป็นต้น

Access Over Ownership Model ไม่ใช่เจ้าของก็ใช้บริการได้

คอนเซปต์ของโมเดลธุรกิจนี้คือ Sharing Economy หรือเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ซึ่งโมเดลนี้ เป็น Digital Disruption ที่น่ากลัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เลยก็ว่าได้ค่ะ โมเดลนี้ ลูกค้าเพียงจ่ายค่าเช่าหรือค่าใช้งาน โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น ตัวอย่างธุรกิจโมเดลนี้ คือ Airbnb และ Co-Working space

Ecosystem Model สินค้าและบริการมีครบจบในเจ้าเดียว

คือ การสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจขึ้นมา โดยผลิตสินค้าหลายประเภทแต่ทุกประเภทสามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันได้ภายใต้ระบบนิเวศน์เดียวกัน (Ecosystem) ตัวอย่างธุรกิจนี้ที่เรารู้จักกันดี คือ Apple และ Google ซึ่งยิ่งคุณมีสินค้าแบรนด์เดียวกันหลายชิ้นก็จะยิ่งเพิ่มคุณค่าให้สินค้านั้นมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถเชื่อมต่อรูปภาพใน iPhone กับเครื่อง Mac และ iPad ได้ หรือ หากคุณต้องการแก้ไขไฟล์ที่เก็บไว้ใน Google Drive ก็สามารถทำได้ใน Google Doc หรือ Google Sheet โดยไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมอื่น ซึ่งโมเดลธุรกิจแบบนี้ทำให้เกิด Brand Royalty ในกลุ่มผู้ใช้งานไปโดยปริยาย

On Demand Model บริการตามสั่ง

คือการให้บริการลูกค้าที่มีความต้องการแตกต่างกัน แต่มีสาเหตุเดียวกันคือ ไม่มีเวลาทำเอง จึงจำเป็นต้องหาผู้ช่วย โดยยินดีจ่ายค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมเล็กน้อยเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้โมเดลนี้ คือ Grab, Agoda, Traveloka, Line Man

Freemium Model ใช้ฟรี ถ้าอยากได้ฟังก์ชั่นดีๆ ก็จ่ายเพิ่ม

เป็นโมเดลธุรกิจที่นิยมใช้กันมากที่สุด และบางธุรกิจนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับ Subscription Model ได้ด้วย โดยลูกค้าสมัครสมาชิกเพื่อใช้งานฟรี แต่จะถูกจำกัดฟังก์ชั่นบางอย่าง หรือสมัครในรูปแบบ Free Trial เพื่อทดลองใช้งานฟรี และลูกค้าต้องจ่ายเงินเพิ่มหากต้องการใช้งานครอบคลุมทุกฟังก์ชั่น ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้โมเดลนี้ คือ Dropbox, Spotify, Joox, Netflix, Slack

Marketplace Model ตลาดออนไลน์ ขายได้ 24 ชั่วโมง

คือ สถานที่ขายของหรือตลาดออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาทำการซื้อขายกันผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้ไม่ได้ทำกันง่ายๆ เจ๊งกันไปก็เยอะ เพราะต้องใช้ต้นทุนสูงด้วย โดยเฉพาะด้าน Maintenance และต้องทำการตลาดเพื่อส่งเสริมให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง หรือสร้างแคมเปญสนับสนุนร้านค้าและผู้ซื้อ เพื่อขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น ตัวอย่างธุรกิจโมเดลนี้ เช่น Amazon, Lazada, Shopee, eBay

บทสรุป

Digital Disruption คือ ปรากฏการณ์ที่ขับเคลื่อนโดยพฤติกรรมของลูกค้าที่มีต่อเทคโนโลยีอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่นั้นมาแล้วก็ไป แต่สินค้าและบริการที่ประสบความสำเร็จ คือ สินค้าและบริการที่ลูกค้าเลือกใช้แล้วคิดว่าตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้ ทำให้ชีวิตเขาง่ายขึ้น สะดวกขึ้น

ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเช่น Grab, Lalamove, Slack, Pinterest หรือ Traveloka อาจไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ดีไปกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่

แต่สิ่งที่เขาทำคือสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่าและเร็วกว่า ส่งผลให้บริษัทรุ่นใหม่เหล่านี้กินส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากขึ้นเรื่อยๆ ภายในระยะเวลาอันสั้น

ในตอนหน้า เราจะมาคุยกันเรื่องเคสธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รายใหญ่ที่ประสบความทสำเร็จในระดับโลก มาติดตามกันต่อนะคะ