posttoday

ต่ออายุเกษียณ : มุมที่มองต่างของสิงคโปร์และมาเลเซีย

06 ตุลาคม 2562

คอลัมน์บริหารคนบนความต่าง

ในช่วงเวลาที่หลายประเทศ กำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย หรือ Old-Aged Society ที่ส่งผลโดยตรงต่อการมีทรัพยากรบุคคลที่เพียงพอต่อการทำงานเพื่อพัฒนาหรือรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะยิ่งมีคนเกิดน้อย มีคนสูงวัยมาก ความพร่องของจำนวนคนทำงาน ก็จะยิ่งหายไปและไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

หลายประเทศได้วางแนวทางการแก้ปัญหาในหลายแนวทาง เช่น

  • ที่ญี่ปุ่นเริ่มยอมเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาในประเทศ โดยมีแรงงานจากฟิลลิปินส์และเวียดนามเข้าไปมากเป็นอันดับต้นๆจากประเทศกลุ่มอาเซียน
  • ที่สิงคโปร์ใช้แนวทางที่ทำมานานแล้วในรูปแบบการจ้างงานแรงงานที่เป็นกลุ่ม ใช้ทักษะและความชำนาญการที่เรียกว่า FT หรือ Foreigner Talent รวมทั้งการใช้แนวทางการส่งเสริมให้คนโสดแต่งงานและมีบุตรด้วยการช่วยเหลือทั้งเรื่องเงินช่วยเหลือโดยตรงและด้วยระบบภาษีแบบที่สิงคโปร์ทำ
  • ที่มาเลเซียใช้แนวทางทางที่เรียกว่า "Talent Corp" คือ การเปิดโอกาสให้คนต่างชาติที่มีประสบการณ์การทำงานและอาศัยอยู่ในมาเลเซียชั่วระยะเวลาหนึ่ง สามารถยื่นขอเป็น Permanent Residence คือเป็นเสมือนพลเมืองของมาเลเซียได้ทั้งครอบครัว และรวมไปถึงการกำหนดแนวทางการพิจารณาปรับเพิ่มอายุเกษียณของข้าราชการและพนักงานเอกชนที่หลายประเทศนำมาใช้ เมื่อมองมาที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนเรามีสองประเทศนั่น คือ สิงคโปร์ กับ มาเลเซีย กำลังมีแนวทางการที่จะปรับเพิ่มอายุเกษียณ แต่ที่น่าสนใจ คือ การตัดสินใจดำเนินการกลับต่างกัน นั่นคือ สิงคโปร์เดินหน้าเต็มรูป แต่มาเลเซียกลับยังชะลอแม้จะมีแรงกดดันจากสหภาพแรงงานในประเทศก็ตาม

เป็นเรื่องน่าคิดว่าเขามีปัจจัยอะไร มีมุมมองอะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจเรื่องนี้ต่างกัน จากประสบการณ์ตรงและจากข้อมูลที่มี ผมมองเห็นความแตกต่างของสองประเทศดังนี้

สิงคโปร์  ต่ออายุเกษียณอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการวิเคราะห์และวางแผนด้านทรัพยากรมนุษย์ในระดับประเทศได้อย่างรอบด้าน สิงคโปร์จัดว่าเป็นประเทศที่มีอัตราเร่งการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยเร็วเป็นอันดับสองรองจากประเทศเกาหลีใต้ เขาจึงต้องมีมาตรการหลายอย่างในการดึงดูด และเติมกำลังคนเข้าไปในระบบการทำงาน

รวมทั้ง การต่ออายุเกษียณ โดยการต่ออายุเกษียณของสิงคโปร์ได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน คือ ปัจจุบันได้กำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 62 ปี แต่นายจ้างจะไม่สามารถเลิกจ้างโดยอ้างเหตุว่าอายุมาก
แต่นายจ้างจะต้องเสนอการจ้างงานที่เรียกว่า Re-employment ที่เป็นสัญญาจ้างงานอย่างน้อยหนึ่งปี

โดยต้องทำตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานได้กำหนดไว้ จนกระทั่งลูกจ้างไม่ต้องการทำงานแล้วหรือจนลูกจ้างอายุครบ 67 ปี นายจ้างจึงจะสามารถให้ลูกจ้างเกษียณได้ และล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ นายกรัฐมนตรีลีเซียนหลุง ได้ประกาศแนวทางว่า จะปรับเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 ปีเป็น 63 ปีในปี ค.ศ. 2022 และจะปรับจาก 63 ปีเป็น 65 ปีในปี ค.ศ. 2030 พร้อมทั้งได้วางแนวทางให้นายจ้างต้องทำ Re-employment ต่อจากอายุเกษียณอีก 5 ปีของแต่ละการกำหนดอายุเกษียณใหม่ด้วยเช่นกัน

  • สำหรับปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ต่ออายุเกษียณของพนักงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผมมองว่า น่าจะมาจากปัจจัยเหล่านี้
    การเติมคนจากต่างประเทศ ด้วยการจ้าง FT เข้ามา ในอีกด้านหนึ่งก็จะถูกต่อต้านจากคนสิงคโปร์ดั้งเดิมที่อยู่กันมาก่อน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งในประเทศในระยะยาว ดังนั้น การต่ออายุเกษียณก็จะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มกำลังคนทำงานและลดความขัดแข้งได้
  • ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสิงคโปร์ที่เรียกว่า CPF หรือ Central Provident Fund นั้น จะมีความเข้มข้น คือ เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจสิงคโปร์เส้นหนึ่ง และเป็นเงินสะสมก้อนโตสำหรับพนักงานในองค์กรที่ใช้เป็นตัวอ้างอิงในการจะขอกู้เงิน ขอทำธุรกรรมทางการเงินของพวกเขา

เวลาที่พนักงานเกษียณออกไป จะได้รับเงินในรูปแบบทั้งคล้ายบำเหน็จและบำนาญในบ้านเรา การยืดอายุเกษียณให้มีคนทำงานก็เท่ากับช่วยให้มีการเติมเงินเข้าในระบบ CPF มากยิ่งขึ้น ทำให้มีเงินในระบบที่จะดูแลคนเกษียณได้มากขึ้น

มาเลเซีย ทางสองแพร่งของการต่ออายุเกษียณ ในมาเลเซียเองปีนี้ก็ได้มีเสียงเรียกร้องและแรงกดดันจากสหภาพแรงงานระดับประเทศขอให้เพิ่มอายุเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี เป็นการเรียกร้องที่ก้าวประโดดมาก ซึ่งเหตุผลหลักของข้อเรียกร้องนี้จะอ้างเหตุผลสนับสนุนหลักๆ คือ

  • อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนมาเลย์เซียสูงมากกว่าเดิมมาก
  • มีการขากแคลนแรงงานจนต้องนำแรงงานเข้าจากต่างประเทศ
  • ประเทศอื่นๆในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ได้เริ่มพิจารณาเรื่องการเพิ่มอายุเกษียณเป็น 65 ปี และนอกอาเซียนก็มีญี่ปุ่นที่ได้กำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 65 ปีแล้ว อย่างไรก็ดี ในมุมมของรัฐบาลเองก็มี
    ความเห็นออกเป็นสองแนวทาง คือ แนวทางสนับสนุนก็แจ้งว่าจะศึกษาความเป็นไปได้ในปี ค.ศ. 2020 เพื่อวางแนวทาง กับ แนวทางที่ไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะค่อนข้างเสียงดังเพราะมีคนที่ไม่เห็นด้วยที่เป็นบุคคลสำคัญคือ นายกรัฐมนตรีมหาเธร์รวมอยู่ด้วย

โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า

  • การขาดแคลนแรงงานในมาเลย์เซียที่ต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติเป็นการขาดแคลนแรงงานทักษะฝีมือที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ถ้าหากดูการอัตราว่างงานของมาเลเซียอยู่ที่ 3.3% แม้ไม่ได้สูงมาก
    แต่ก็เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว

ดังนั้น แทนที่จะต่ออายุเกษียณคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ควรจะไป Re-skill ตัวเองเพื่อเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆตามที่ตลาดต้องการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการถูกจ้างงานมากขึ้น

  • การไปเปรียบเทียบกับสิงคโปร์และญี่ปุ่นนั้นไม่ถูกต้องเพราะควรจะต้องดูอัตราการว่างงาน และปัจจัยอื่นๆประกอ
  • และที่เด็ดสุดก็น่าจะเป็นคำเหตุผลของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์เองที่ท่านบอก ว่า อายุ 60 ปีนั้นเหมาะสมดีอยู่แล้ว แทนที่จะมุ่งเรื่องการต่ออายุเกษียณ สิ่งที่ควรทำมากกว่า คือ หาทางเพิ่มการจ้างงานให้กับคนรุ่นใหม่ๆน่าจะดีกว่า แล้วท่านยังบอกอีกว่า "ถ้าเราเพิ่มอายุเกษียณไปจนถึง 65 ปี เราจะได้พวกไม่มีไฟ (Deadwood) ที่นั่งทับเก้าอี้โดยไม่ทำอะไร แถมยังปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ที่เก่งๆอีกด้วย"

และสำหรับในประเทศไทยที่กำลังมีการพิจารณาเรื่องนี้ ก็น่าจะนำเงื่อนไข ปัจจัยและมุมมองผู้บริหารของสองประเทศนี้มาเรียนรู้ด้วยก็จะดีไม่น้อย