posttoday

หนี้ครัวเรือนทะลุสูงสุด...โมเดลแก้จนของรัฐบาลง่ายอย่างนั้นเชียวหรือ?

23 กันยายน 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

สัปดาห์ที่ผ่านมาญัตติฝ่ายค้านเปิดอภิปรายทั่วไป “จบแบบไม่จบ” กรณีมติบิ๊กตู่ถวายสัตย์ไม่ครบประโยคทำได้แค่สะกิดเบา ๆ นัยว่าฝ่ายค้านจะลุยร้องปปช.แต่จะเป็นหมันหรือเปล่าไม่ทราบ

วันเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญตัดสินหัวหน้าคสช.เป็นรัฏฐาธิปัตย์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่ผิดกติกาแต่จะอยู่ครบเทอมหรือต่อสองสมัยตามโหรชื่อดังที่ออกมาทำนายคงต้องติดตามสถานการณ์แบบรายวันเพราะคะแนนในสภาฯสูสีแถมมีพวกโลเลบวกกับปัญหาจริยธรรมของรัฐมนตรีมือประสานสิบทิศที่เป็นปัญหาว่าจะลงเอยอย่างไร

ประเด็นที่อยากเขียนคงไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อเหล่านี้แต่อยากพุ่งไปเรื่องน้ำท่วมอีสานซึ่งครั้งนี้หนักมาก พื้นที่เกษตรเสียหาย 1 ถึง 1.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะอีสานตอนล่าง เช่น อำนาจเจริญ, ร้อยเอ็ด ที่เจอเต็มๆ จังหวัดอุบลราชธานีจมน้ำหนักสุดในรอบ 20 ปีประเมินเบื้องต้นความเสียหายเฉพาะภาคเกษตรกรรมไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท

ส่วนผลกระทบเศรษฐกิจทั้งอุตสาหกรรม พาณิชยการ ถนน-สะพาน บ้านเรือนคงต้องประเมินกันอีกครั้ง ที่แน่ ๆ หลังน้ำท่วมคนอีสานจะจนมากกว่าเดิม เงินบริจาคคงช่วยได้ระยะสั้น ๆ แต่ต้องให้ทั้งเงินและของถึงมือคนเดือดร้อนเร็ว-ไม่ตกหล่น-ไม่เข้ากระเป๋าใคร หลังจากนั้นคงต้องมีมาตรการฟื้นฟูจริงจังส่วนชาวบ้านที่เดือดร้อนคงไม่พ้นไปกู้หนี้เพิ่มทั้งในระบบและนอกระบบ

ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยสูงยิ่งแก้หนี้ชาวบ้านยิ่งสูงกว่าเดิมเปรียบเทียบ 5 ปี (ไตรมาส1 ปี 2558 - 2562) เฉพาะหนี้ในระบบสูงขึ้น 2.32 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.8 หรือเฉลี่ยหนี้เพิ่มปีละ 4.6 แสนล้านบาท

ขณะที่ภาครัฐชอบไปเทียบกับจีดีพีแล้วบอกว่าหนี้ครัวเรือนของไทยคงที่หรือขยายตัวแค่จิ๊บจ๊อยเพราะที่ผ่านมารัฐบาลอัดฉีดเมกะโปรเจคแต่ละปีหลายแสนล้าน ขณะที่ระบบค้าปลีกของไทยกึ่งผูกขาดเงินส่วนใหญ่ไปกระจุกอยู่ในกระเป๋ากลุ่มทุนใหญ่ส่วนชาวบ้านจนยิ่งกว่าเดิม ก่อนหน้านี้การค้า-การขายไม่ค่อยดีอยู่แล้วหากเจอน้ำท่วมครั้งนี้เข้าไปผสมโรงด้วยจะเพิ่มจำนวนคนรายได้น้อยแบมือขอสวัสดิการของรัฐจะสูงขึ้นหรือสรุปง่าย ๆ ว่าคนจะจนมากยิ่งกว่าเดิม

เขียนในคอลัมน์นี้มาหลายครั้งว่าหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นหนี้ของประชาชนที่สูงมากกลายเป็นกับดักต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปีนี้ทะลุ 13 ล้านล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์อัตราเร่งตัวอยู่ในช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 ตรงกับสมัยรัฐบาลใดไปหาดูกันเอง มีการกล่าวว่าเป็นเพราะนิสัยคนไทยใช้มากแต่หาเงินได้น้อยเมื่อไม่พอก็ไปเป็นหนี้เป็นกันถ้วนหน้าทั้งในต่างจังหวัดและในเมืองทำให้การเป็นหนี้หรือเบี้ยวไม่จ่ายเป็นของธรรมดาไม่ต้องอายใคร

แม้แต่เด็กเรียนหนังสือกู้เงินกยศ.มีงานทำแล้วยังเบี้ยวจนคดีเต็มศาล รัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งไม่ได้ระบุเป็นการเฉพาะว่ารัฐบาลไหนล้วนแก้ปัญหาแบบง่าย ๆ อยากจะให้เศรษฐกิจโตหรือได้คะแนนนิยมอัดแคมเปญให้เป็นหนี้เยอะ ๆ

ที่ผ่านมาเกษตรกรถูกมอมเมาผ่านสถาบันการเงินของรัฐให้เป็นหนี้จ่ายหนี้เก่าแล้วให้มากู้มากกว่าเดิม มาตรการช่วยเหลือรวมถึงหลังน้ำท่วมครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นการให้กู้เพิ่มหรือให้เงินกู้ใหม่ไปโปะหนี้เก่าที่สูงกว่าเดิม

ส่วนคนในเมืองในอดีตส่งเสริมรถคันแรกเพื่อไปช่วยอุตสาหกรรมยานยนต์ของต่างชาติแห่กันไปกู้ไฟแนนซ์ติดหนี้ติดสินงอมแงมพึ่งมาฟื้นได้ไม่กี่ปีนี้เอง การแก้มาตรการเศรษฐกิจรอบใหม่เศรษฐกิจไม่ดีให้สตางค์ 1,000 บาทไปเที่ยวตามโครงการ “ชิม - ช็อป” หากใช้เงินมากจะได้เงินคืนร้อยละ 15 คงได้รูดบัตรเป็นหนี้เพิ่มกันเยอะแล้วจะให้หนี้ชาวบ้านลดลงได้อย่างไร

ล่าสุดกระทรวงการคลังออกโมเดลแก้จนมีแผนสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้าไปกระตุ้นฐานรากรับฟังปัญหาความยากจน ใครไม่มีที่ดินทำกินจะให้กรมธนารักษ์จัดที่ดินราชพัสดุให้เช่าถูก ๆ หากพบว่าใครขาดแคลนเงินจะให้แบงก์รัฐเข้าไปปล่อยกู้ หากผลผลิตตกต่ำขายไม่ได้ราคาจะช่วยหาตลาดหรือส่งออกเลือกแต่ลูกค้าดีๆที่ให้ราคาสูงระบุว่าชาวนา ชาวสวนยาง ไร่อ้อย-ปาล์ม-สับปะรดจะพ้นความยากจน

อีกทั้งจะให้ธนาคารรัฐเข้าไปปล่อยสินเชื่อทั้งทางตรงและผ่านกองทุนหมู่บ้าน ตลอดจนโครงการพักหนี้ซึ่งตรงนี้เห็นด้วยโดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมภาคอีสานช่วยเฉพาะที่เสียหายจริง ๆ ต้องเป็นโครงการปลอดดอกเบี้ยระยะ 2 - 3 ปี มิฉะนั้นจะกลายเป็นดอกเบี้ยทบต้น

โมเดลแก้จนของรัฐบาลที่กล่าวมาเป็นแค่บางส่วนแต่เนื้อในส่วนใหญ่ยังเป็นการให้กู้ไม่ใช่ไปสร้างรายได้หลายโครงการยังเลื่อนลอย เช่น ช่วงนี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวราคาสินค้าเกษตรตกต่ำหาตลาดไม่ได้ คนของรัฐบาลมีกึ๋นอะไรที่จะไปเป็น “Sale Man” หาตลาดแข่งกับเอกชนที่เป็น “Exporter” ขนาดมืออาชีพยังทำไม่ได้รายใหญ่บางรายยังขาดทุนเป็นร้อยเป็นพันล้านหรือต้องขายธุรกิจให้ต่างชาติ

ดังนั้นดีเดย์แก้จนที่ออกตัวไปเมื่อเสาร์ที่ผ่านมาโดยขาดเนื้อหาแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอาจเป็นโมเดลขายฝันหรือสร้างภาพลักษณ์ การแก้ปัญหาคนจนของประเทศคือการแก้หนี้ครัวเรือนตัวเลขควรจะแยกหนี้ธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลออกจากหนี้ชาวบ้านเพื่อจะเห็นภาพที่ชัดเจน

คนจนของประเทศเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกว่า 14.5 ล้านคนนับวันจะสูงขึ้นเพราะเทคโนโลยีใหม่จะผลักดันให้มีคนออกจากงานมากขึ้นส่วนใหญ่จะกลับไปชนบท ขณะเดียวกันแนวโน้มคนสูงอายุของไทยมีจำนวนมากขึ้นแต่ไม่มีมาตรการรองรับแหล่งรายได้ที่สุดก็จะผลักดันไปเป็นคนจน

มาตรการต่าง ๆ ล้วนส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นหนี้มากขึ้นโมเดลแก้จนของรัฐบาลเจตนาดีและภาพดูดีแน่นอน ประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไรหากโจทย์ยากแต่วิธีแก้ดูพื้น ๆ ดูเหมือนทำได้ง่าย ๆ แก้กันมานานผ่านมาหลายรัฐบาลหากทำได้ง่าย ๆ ป่านนี้คนจนคงหมดไปจากประเทศนี้นานแล้ว แต่ยังดีกว่าไม่คิดหรือไม่ทำอะไรขอเป็นกำลังใจให้ทำได้ จริงจะกลายเป็นโมเดลที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องยกให้ไทยเป็นฮีโร่ต้นแบบโมเดลแก้จนของโลก...ทำให้ได้นะครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)