posttoday

เศรษฐกิจไทยอ่อนแอความเสี่ยงสูง...ต้องเร่งแก้

09 กันยายน 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ไทยติดกับดักเศรษฐกิจที่เรียกว่า “Middle Trap” หรือติดอยู่ระหว่างกลางท่อจะขยับขึ้นบนก็ยากเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจมีความเปราะบางต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกซึ่งอยู่ในช่วงขาลง อีกทั้ง ขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงราคาลดน้อยถอยลง ภาคส่งออกของไทยอยู่ในช่วงชะลอตัวส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกแต่ปัจจัยสำคัญมาจากปัจจัยภายใน เช่น ต้นทุนการผลิตบวกกับปัจจัยที่ไม่เอื้อมาจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่าอยู่ในลำดับต้น ๆ ของภูมิภาคและจะกลายเป็น “New Normal” คือบาทจะกลายเป็นเงินสกุลแข็งแบบยั่งยืน

เศรษฐกิจไทยผูกติดไว้กับการส่งออกแบบแยกกันไม่ออกมีสัดส่วนอยู่ในจีดีพีค่อนข้างสูงเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนำเข้าที่สนับสนุนการส่งออกตลอดจนภาคบริการรวมถึงภาคเกษตรและปศุสัตว์ จุดแข็งในอดีตกำลังหมดไปโดยเฉพาะแรงงานที่ไม่พอเพียงและค่าจ้างสูงกว่าประเทศคู่แข่งหากไปถึง 400 บาทต่อวันคงได้เห็นการเลิกจ้างและอุตสาหกรรมส่งออกเจ๊งมากขึ้น อีกทั้งสินค้าไทยขาดนวัตกรรมไม่มีแบรนด์ของตนเองเป็นการรับจ้าง (OEM) อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ล้วนเป็นของต่างชาติ

กำลังซื้อในประเทศมาจากภาคเกษตรกรรมซึ่งมีความอ่อนแอพึ่งตนเองไม่ได้ครัวเรือนเกษตรกรเป็นครึ่งหนึ่งของประเทศแต่มีสัดส่วนอยู่ในจีดีพีแค่ร้อยละ 8.4 เทียบกับภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 40 ภาคเกษตรกรรมของไทยอ่อนแอ ขาดทั้งทรัพยากรธรรมชาติ น้ำ คน ผลผลิตต่อไร่ต่ำต้นทุนสูง แต่ต้องแข่งราคากับประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงอินเดีย เกษตรกรพึ่งพาตัวเองไม่ได้รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากเลือกตั้งหรือรัฐประหารต้องเข้ามาอุ้มทั้งประกันราคา ประกันรายได้หรือจำนำทำให้เกษตรกรกลายเป็นคนมีรายได้น้อยพึ่งพาบัตรสวัสดิการของรัฐและมีหนี้สูงเป็นกับดักสำคัญต่อการฟื้นตัวของการบริโภค

ความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยสะท้อนจากจำนวนคนที่มีรายได้น้อยต่ำกว่าเกณฑ์มีถึง 14.5 ล้านคนโดยในจำนวนนี้เกือบร้อยละ 90 เป็นคนที่มีอายุเกิน 60 ปีที่แก่แล้วแต่ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้รัฐต้องจ่ายเบี้ยคนชราเป็นรายเดือน ขณะที่ประชากรที่อยู่ในฐานภาษีประมาณ 10-11 ล้านคนแต่เสียภาษีจริงแค่ 4 ล้านคน เป็นรายได้แผ่นดินประมาณปีละสามแสนกว่าล้านบาทที่เหลือรายได้ไม่ถึงยื่นแต่แบบภ.ง.ด.อย่างเดียว ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงฐานผู้บริโภคของไทยอ่อนแอส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งหวังจะมาช่วยพยุงเศรษฐกิจทดแทนการพึ่งพาส่งออกคงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก สะท้อนจากดัชนีผู้บริโภคในรูปของเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำทั้งปีอาจขยายตัวได้ร้อยละ 0.9 เมื่อได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกซึ่งไปกระทบภาคส่งออกยิ่งซ้ำเติมกำลังซื้อภายในให้ ชะลอตัว

มีการไปโทษสงครามการค้าระหว่างคุณทรัมป์กับสี จิ้นผิงว่าเป็นสาเหตุหลัก คำตอบของผมคงไม่ใช่ทั้งหมดเพราะเศรษฐกิจไทยอาการไม่ดีมาก่อนหน้านี้หลายปี ทั้งจากปัญหาการเมืองในประเทศและเสถียรภาพของรัฐบาลที่ง่อนแง่นมาอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษ จนปัจจุบันก็ยังเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำรัฐสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจในปลายสัปดาห์นี้คงรู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการลงทุนทั้งจากภายในและการลงทุนจากต่างชาติ (FDI)จะลดน้อยลง มีโอกาสคุยกับนักลงทุนญี่ปุ่นบางรายเล่าให้ฟังว่าเขาคงไม่ทิ้งไทยเพราะลงทุนแล้วไปไหนไม่ได้แต่ลงทุนใหม่หรือขยายโรงงานกำลังมองไปที่ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา รวมไปถึงประเทศเมียนมา ส่วนฐานการผลิตในไทยคงแค่ประคองธุรกิจเดิมให้อยู่ได้ก็พอแล้วเหตุเพราะการเมืองไม่แน่นอน คนไม่มี ค่าจ้างสูง

ประเด็นนี้อย่าได้คิดว่าผมกล่าวเกินเหตุ เร็วๆ นี้มีโอกาสไปย่างกุ้งเดินช็อปปิ้งในห้างดังทันสมัยไม่แพ้ไทยพบเสื้อผ้าดี ๆ สวย ๆ ราคา 200-300 บาทคิดว่าเป็นของจีนแต่อ่านป้ายพบว่าเป็นของที่ผลิตในเมียนมาเป็นโรงงานของไทยที่ย้ายฐานการผลิต การปรับค่าจ้างสูงๆ อย่างที่ไปหาเสียงคงต้องดูประเด็นเหล่านี้ให้ดีเพราะได้มีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจหลายคนมีแนวโน้มที่จะไปขยายการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ภายในจะมีการปรับใช้เครื่องจักรที่เป็นออโตเมชั่นที่ใช้คนน้อยลงปัจจัยเหล่านี้จะเป็นความเสี่ยงในอนาคต

เศรษฐกิจไทยมาถึงช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านจะติดค้างกลางท่อเป็น “Middle Trap” ต่อไปคงไม่ได้จะไปต่ออย่างไรไม่รู้ อยู่กับที่ก็ไม่ได้ จะยกระดับไปแข่งกับตลาดบน เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน หรือญี่ปุ่นก็ทำไม่ได้ จะลงไปแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านก็สู้ต้นทุนไม่ได้ ขีดความสามารถในการแข่งขันการส่งออกของไทยถึงแม้จีนกับสหรัฐฯจะเลิกทะเลาะกันก็ใช่ว่าจะทำให้ไทยดีขึ้นกลับเหมือนเดิมเพราะเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในที่เราไปสร้างเงื่อนไขเอง

ขณะนี้บอกได้ว่าเศรษฐกิจในประเทศฝืดมาก ๆ ดัชนีค้าปลีกทรงตัวไปจนถึงต่ำกว่าปีที่ผ่านมากำลังซื้อในประเทศชะลอตัวมาจากหนี้ครัวเรือนที่สูงเกือบจะถึงร้อยละ 80 ติดอับดับ 2 ของเอเชีย โดยสำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่าหนี้ครัวเรือนสูงมีผลต่อการขยายตัวของจีดีพี ขณะที่แบงค์ชาติออกมาเตือนว่ามีสัญญาณความเสี่ยงโดยเฉพาะหนี้สินบุคคลที่เกิดจากบัตรเครดิตและผ่อนรถยนต์มีแนวโน้มจะเป็น “NPL” ค่อนข้างสูงแต่กระทรวงการคลังออกมาบอกว่าไม่ต้องห่วงยังส่งเสริมให้ประชาชนกู้ยืมไปเที่ยวเยอะ ๆ โดยรัฐบาลจะช่วยเงินรายละ 1,500 บาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

แต่ที่หวังว่าจะช่วยให้การบริโภคกลับมาฟื้นตัวเร็ว ๆ อาจเป็นความท้าทาย ล่าสุดมหาวิทยาลัยหอการค้าเปิดเผยว่าดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 33 เดือน ความเชื่อมั่นด้านการบริโภคซื้อรถใหม่ ท่องเที่ยวหรือลงทุนดัชนีอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ตรงกับที่มีโอกาสไปประชุมกับกลุ่มสหภาพแรงงานพบว่าพวกเขากังวลมาก เพราะมีแนวโน้มการเลิกจ้างหรือโครงการสมัครใจลาออกค่อนข้างมากโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงสูง ผู้บริหารประเทศ อย่าดีแต่พูดหรือสร้างวิมานในอากาศ เร่งเอาคนเก่งเข้ามาเสริมโดยเฉพาะกระทรวงที่รัฐมนตรีขึ้นสนิม ส่วนทีมเศรษฐกิจเก่า ๆ ที่พาเศรษฐกิจร่วงมาถึงขนาดนี้ คงต้องให้พ้นหน้าที่ไปได้แล้ว...ให้อยู่ต่อก็ทำเหมือนเดิมก็แย่เหมือนเดิมจริงไหมครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)