posttoday

เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง...ทรุดตัวจริงหรือ

26 สิงหาคม 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ประชุมครม.สัปดาห์ที่ผ่านมาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบแพ็คเกจวงเงิน 3.168 แสนล้านบาท โดยหนึ่งในสามเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านโครงการประชารัฐ เช่น ช่วยเหลือค่าครองชีพ ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, เงินช่วยเหลือคนชรา, เงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรตลอดจนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว

มาตรการทางการเงินส่วนใหญ่เป็นการเร่งรัดให้สถาบันการเงินปล่อยกู้และในสัปดาห์นี้จะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 เน้นกระตุ้นลงทุนเอกชนและการลงทุนจากต่างประเทศรายละเอียดต่าง ๆ คงทราบกันดีไม่ขอกล่าว สัญญาณที่แสดงว่าเศรษฐกิจไทยออกอาการไม่ค่อยจะดีเห็นได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 โตได้เพียงร้อยละ 2.3 ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส ซึ่งรัฐบาลก็คงมองเห็นและกังวลว่าเศรษฐกิจปีนี้อาจจะชะลอตัวเติบได้เพียงร้อยละ 2.7 หรืออย่างเก่งก็ไม่เกินร้อยละ 3.0 จากเป้าหมายที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.0

ความกังวลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ฯ ซึ่งลงทุนเข้ามานั่งเป็นหัวโต๊ะของครม.เศรษฐกิจ หากหัวทิ่มลงแบบนี้คงไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลจึงเป็นที่มาของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่หากดูไส้ในงบกระตุ้นเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนเงินจริง ๆ มีแค่ 8.0 หมื่นล้านบาท เช่น เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและคนชราผ่านบัตรสวัสดิการของรัฐ 500 บาทและเงินช่วยเหลือคนชรา หากเข้าเงื่อนไขจะได้เงินเดือนละ 1,000 บาทแต่ระยะเวลาแค่สองเดือน (ส.ค. - ก.ย.) หลังจากนั้นเงินก็หมดแล้วจะทำอย่างไรต่อ

ส่วนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หมื่นบาทต่อคนคาดว่าจะมีผู้เข้าถึงสิบล้านคนและเงินชดเชยสนับสนุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว ซึ่งคงต้องดูถึงผลกระทบข้างเคียงว่ากระตุ้นให้ไปเที่ยวกลับมาแล้วหนี้ครัวเรือนจะสูงหรือไม่พอเงินหมดก็จะไปกระทบกับอำนาจซื้อเป็นงูกินหาง แก้ไม่รู้จบ

สำหรับส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เช่น การประกันราคาข้าวรวมถึงราคายางพารา ลูกปาล์มดิบ ซึ่งทราบว่าจะประกันราคา 4 บาทแต่ราคาซื้อขายจริงประมาณ 2.50 บาท คงต้องระวังผลข้างเคียงคือสต๊อกเหมือนที่เคยเกิดในอดีต แต่ที่ต้องเร่งทำจริง ๆ คือมาตรการบรรเทาค่าครองชีพเกษตรกรเกือบล้านคนด้วยการจ่ายดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.1 %

ส่วนดอกเบี้ยที่เหลือคงไปโป๊ะกับเงินต้นกลายเป็นดอกเบี้ยทบต้นตรงนี้หากจะช่วยกันจริงควรยกเว้นดอกเบี้ยให้ 1 ปีไปเลย ส่วนมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีและธุรกิจผ่านสถาบันการเงินของรัฐเงินเป็นหลักแสนล้านเอาเข้าจริงจะมีกี่รายที่เข้าถึงเพราะเกี่ยวข้องกับหลักประกันว่าคุ้มไหม รวมถึงงบการเงินกำไรไม่มีถึงจะมีบสย.เข้ามาแต่การปล่อยกู้สถาบันการเงินเขาก็ต้องเลือกรายที่ชัวร์จริง ๆ ไม่เช่นนั้นก็จะถูกเช็คบิลย้อนหลังแต่มาตรการเหล่านี้ก็คงต้องทำที่สำคัญให้เงินลงถึงมือชาวบ้านและธุรกิจรายเล็กรายน้อยที่กำลังใกล้เจ๊ง

การที่ตัวเลขขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่โตต่ำสุดในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2538 มีความกังวลว่าไตรมาส 3 จะยิ่งขยายตัวต่ำกว่าเพราะบางจังหวัด โดยเฉพาะอีสานเผชิญกับปัญหาภัยแล้งกำลังซื้อของเกษตรกรจะหดตัว

ขณะที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจไม่ทำงานแม้แต่ภาคท่องเที่ยวก็เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ค่อยจะดีจนมีแนวคิดที่จะเพิ่มเวลาฟรีวีซ่าให้ขยายจาก 15 วันไป 30 วันสามารถเข้า-ออกได้ภายใน 1 ปี แต่มีการท้วงติงว่าจะเป็นสายล่อฟ้าดึงคนจีนกับอินเดียให้เข้ามาแย่งงานคนไทยจนครม.ห่วงความมั่นคงเบรกไปในที่สุด ตรงนี้เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่มีอะไรกินวันนี้ให้หมดต้องคำนึงถึงอนาคตเหลือให้ลูกหลานไว้บ้าง

มีคำถามว่าเศรษฐกิจไทยถึงขั้นทรุดตัวหรือไม่ คำตอบคงไม่ถึงขั้นนั้นเพราะในปีพ.ศ.2557 ช่วงที่คสช.เข้ามาใหม่ ๆ จีดีพีของไทยได้รับผลจากการเมืองในประเทศมาอย่างต่อเนื่องขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.8 แต่ปีต่อ ๆ มาสามารถขยายตัวต่อเนื่องจนปีที่แล้วขยายตัวสูงสุดร้อยละ 4.1 ปัจจัยมาจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นพอการเมืองในประเทศนิ่งเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนจากภาคส่งออกและการท่องเที่ยวก็สามารถกลับมาขยายตัว แต่วันนี้โจทย์เศรษฐกิจต่างออกไปเพราะเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วยวัฏจักรขาลง ประเทศต่าง ๆ ช่วงไตรมาสสองเศรษฐกิจล้วนชะลอตัวประเทศที่หนักกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ไตรมาส 2 ขยายตัวได้ร้อยละ 0.1, ยูโรโซนร้อยละ 1.1, ญี่ปุ่นร้อยละ 1.2, เกาหลีใต้ร้อยละ 2.1 แม้แต่จีนเศรษฐกิจหดตัวแตะใกล้ ๆ ร้อยละ 6.0

เศรษฐกิจที่ชะลดตัวไปโทษรัฐบาลแก้ปัญหาไม่เป็นคงไม่ใช่ทั้งหมดเพราะปัจจัยหลักมาจากการค้าโลกหดตัว การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาเป็นมาตรการระยะสั้นโดยหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วเหมือนที่ผ่านมาคงไม่ใช่เพราะโจทย์ต่างออกไป เหตุเพราะเศรษฐกิจไทยอิงกับการค้าโลก ซึ่งยังไม่เห็นสัญญาณทางบวกโดยเฉพาะประเด็นการตอบโต้แบบฟันต่อฟันของคุณทรัมป์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทำให้การฟื้นตัวอาจใช้เวลาเป็นปี

สะท้อนจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาระบุว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 จะยังคงติดลบและทั้งปีติดลบแน่นอน สวนทางกับการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ว่าส่งออกปีนี้จะขยายตัวถึงร้อยละ 3.5 ไม่รู้ว่าระดับชาติตั้งเป้าเลื่อนลอยอย่างนี้ได้อย่างไร

ขณะเดียวกันคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะยังเติบโตจากฐานที่ต่ำ กำลังซื้อในประเทศถึงแม้จะมีมาตรการกระตุ้นแต่แนวโน้มจะขยายต่ำกว่าครึ่งปีแรก ต้องเร่งให้เม็ดเงินอาจออกมาช้าทั้งจากการลงทุนและการเบิกจ่ายภาครัฐ จุดแข็งของไทยคือเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในอัตราต่ำจากราคาปิโตรเลียมในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลงบวกกับอานิสงค์เงินบาทซึ่งมีอัตราแข็งค่ากว่าประเทศอื่น ๆ ทำให้สินค้านำเข้าเช่นราคาพลังงานและวัตถุดิบรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคได้รับอานิสงค์เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เงินเฟ้ออยู่ในอันดับต่ำแต่ส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คงยังเร็วเกินไปที่จะชี้ชัดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นแพ็กเกจจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าจะกลับมาฟื้นตัวเป็นเรื่องที่ตอบยาก แต่ยังไม่เลวร้ายถึงขั้นเศรษฐกิจทรุดตัวเพียงแต่อยู่ในช่วงชะลอตัวและจะซึมยาว ท้าทายรัฐบาลบิ๊กตู่และทีมเศรษฐกิจว่าจะมีทีเด็ดอะไรออกมาแก้ปัญหา...รอดูครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)