posttoday

มองการทำงานแบบญี่ปุ่นผ่านโค้ชนิชิโนะ

18 สิงหาคม 2562

โดย ดิลก ถือกล้า

โดย ดิลก ถือกล้า

มาถึงนาทีนี้ คงไม่มีแฟนบอลชาวไทยท่านใดที่ไม่รู้จักชื่อ นิชิโนะ อากิระ โค้ชฟุตบอลทีมชาติไทยที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งมาไม่นาน ที่เป็นทอล์กออฟทาวน์ในสื่อกีฬาบ้านเรา เพราะโค้ชท่านนี้ มีดีกรีไม่ธรรมดา
เคยนำทีมชาติญี่ปุ่นลุยฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดเมื่อปี 2018 และทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ

แต่สิ่งที่ผมสังเกตเห็น ปฏิกิริยาของแฟนฟุตบอลบอลชาวไทยที่แสดงออกต่อการตอบรับของโค้ชนิชิโนะ ตั้งแต่ตอนเริ่มมีข่าวการเซ็นสัญญา มาจนถึงวันนี้ที่โค้ชนิชิโนะได้เข้ามาเริ่มงานอย่างเต็มตัว
ผมได้เห็นการทำงานแบบญี่ปุ่นที่ผมคุ้นเคยเนื่องจากเคยทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นมาสิบกว่าปี และเคยใช้ชีวิตกานเรียนที่ญี่ปุ่นหนึ่งปี จึงอยากจะนำมาเล่าเพื่อเรียนรู้ไปร่วมกัน

จากปรากฎการณ์นิชิโนะ ผมมองเห็นการทำงานแบบคนญี่ปุ่นในเรื่องเหล่านี้ 1. ถ้ายังไม่ชัดเจน จะไม่พูดออกมา ในช่วงที่มีข่าวว่า โค้ชนิชิโนะ ได้ตอบรับมาคุมทีมชาติไทย แล้วได้เดินทางกลับไปประเทศญี่ปุ่น จากนั้น ทางสมาคมฟุตบอลของไทยได้แจ้งว่าทางโค้ชนิชิโนะได้ตอบรับแล้ว แต่ปรากฎว่า มีข่าวออกมาจากทางฝั่งประเทศญี่ปุ่นในทำนองว่า ยังไม่ได้มีการตกลงอะไรทั้งสิ้น

ทำให้แฟนบอลชาวไทยเกิดอาการเดือดดาลและมีการแสดงความคิดเห็นทางลบความไม่เข้าใจออกมามากมาย ในเวลานั้น ผมเชื่อมั่นว่า เขาจะมาแน่ๆ แต่ที่เขายังไม่พูดอะไรชัดเจนเนื่องจากยังไม่อะไรชัดเจน
ยังไม่มีสัญญาเป็นทางการให้เขาเห็นเพื่อเป็นการยืนยันว่า ทุกอย่างจะไม่มีผิดพลาด เเพราะสำหรับการทำงานแบบญี่ปุ่นแล้ว จะต้องมั่นใจว่าทุกอย่างพร้อมสมบูรณ์ ไม่มีโอกาสผิดพลาด จึงจะสื่อสารออกมาหรือกัาวไปในขั้นตอนถัดไป

ดังนั้น จะเห็นว่าโค้ชนิชิโนะพูดเรื่องนี้หลังจากมีภาพการลงนานในสัญญาที่ญี่ปุ่นแล้ว

2. ให้เกียรติเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานปัจจุบัน นอกจากการต้องชัดเจนก่อนสื่อสารแล้ว การทำงานที่สำคัญยิ่งข้อหนึ่งของคนญี่ปุ่น คือ การให้เกียรติกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานในปัจจุบัน คือ หากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เขาจะต้องเป็นคนแจ้งด้วยตนเองให้หัวหน้างานเพื่อนร่วมงานทราบอย่างเป็นทางการเป็นคนแรกๆ เพราะนอกจากจะเป็นการให้เกียติแล้ว ยังเป็นการให้ที่ทำงานเดิมได้เตรียมพร้อมและเตรียมคนเข้ามารับช่วงต่อได้อย่างไม่ติดขัดอีกด้วย

ดังนั้น ข่าวที่ออกมาจากปากโค้ชนิชิโนะ เริ่มมีอย่างเป็นทางการหลังจากที่เขาได้พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องในสมาคมฟุตบอลของญี่ปุ่น เพราะในช่วงเวลานั้น โค้ชนิชิโนะยังรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นอยู่

3. Gemba Philosophty หรือ การใช้ปรัชญาแบบเกมบะ ในการทำงาน จุดแข็งอย่างหนึ่งของการทำงานแบบญี่ปุ่น คือ เชื่อว่าการแก้ปัญหาการปรับปรุงพัฒนา การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะต้องอยู่ที่หน้างาน ที่สถานที่จริงไปเพื่อ เห็นด้วยตา ตั้งคำถามว่าทำไม และแสวงหาคำตอบด้วยความเข้าใจต่อสิ่งที่เป็นอยู่ และเมื่อโค้ชนิชิโนะเข้ามาเริ่มงาน

สิ่งที่ผมมองเห็นว่าเขาเดินแนวทางการทำงานในรูปแบบของการใช้หลักการเกมบะ คือ 1. มีการตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับความพร้อมของนักเตะไทย การฝึกสอนของทีมแต่ละทีมในไทยลีก ดังจะเห็นได้จากที่เขาบอกว่า เขาได้ศึกษาและมีการทำการบ้านเกี่ยวกับนักเตะไทยไว้บ้างแล้ว

2.มีการเตรียมคำถามเพื่อไปหาคำตอบ ซึ่งแม้ไม่ได้พูดออกมา แต่วิธีการลงไปดูทีมในไทยลีกแข่งขัน วิธีการเลือกทีมที่จะลงไปดูกับตาของตนเอง เป็นการบ่งบอกว่าเขาได้เตรียมชุดคำถามไว้อยู่แล้วเพื่อไปหาคำตอบจากการไปดูของจริง

3. ในการลงไปดูทีมในไทยลีกลงแข่งขัน เขาไม่เพียงจะไปดูอย่างเดียวแต่ยังมีการให้ทีมโค้ชไทยร่วมไปด้วย และผมเชื่อว่า ในระหว่างการชมเขาน่าะได้แบ่งปันประสบการณ์ให้คนที่ร่วมไปในทีม
ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการทำเกมบะ

4. หลังจากนี้ เมื่อมีการระบุผู้ช่วยโค้ชชาวไทยอย่างเป็นทางการแล้ว ผมเชื่อว่าโค้ชนิชิโนะ จะนำสิ่งที่ได้มาทำการบ้าน แล้วกำหนดแผนงานที่ระบุชัดว่า ใครทำอะไร และจะได้ผลเมื่อไหร่ ซึ่งตรงนี้แฟนบอลชาวไทยจะได้เห็นความเข้มของการเอาจริงว่า จะต้องทำอะไร โดยใคร และให้ได้เมื่อไหร่ในแบบของญี่ปุ่น ที่จะมีความชัดเจนมาก รวมไปถึงการวางแผนติดตามความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมที่สไตล์การทำงานแบบไทยๆจะไม่เข้มเท่า

5. มีการพัฒนาโค้ชคนไทย เป็นแนวทางที่เทียบเคียงได้กับการ Train the Trainer ในการทำงานแบบเกมบะ ดังนั้นโค้ชไทยคนใดที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมทีมเป็นคณะทำงานกับโค้ชนิชิโนะแล้ว ผมเชื่อว่า
เขาจะถ่ายทอดและพัฒนาคนในทีมงานอย่างเต็มที่ ชึ้นอยู่กับโค้ชไทยแล้วว่าจะรับมือได้แค่ไหน

นี่คือวิธีการทำงานแบบญี่ปุ่นที่ผมมองเห็น จากการเข้ามาของโค้ชนิชิโนะ โค้ชฟุตบอลชาวญี่ปุ่นคนแรก ในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลไทย