posttoday

จะอยู่อย่างไร...เมื่อหุ่นยนต์-ออโตเมชั่นเข้ามาทำงานแทนคน

08 กรกฎาคม 2562

โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์   รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์   รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

บอกตรงๆ ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร...การเมืองยุคนี้น่าเบื่อและเซ็งมากๆ ด้านเศรษฐกิจก็ยังขยับไม่ออก ดูเหมือนว่าจะเอาคนหน้าเดิมมากำกับเศรษฐกิจแล้วจะได้อะไรใหม่ๆ ช่วงนี้เห็นข่าวเกี่ยวกับหุ่นยนต์และ ออโตเมชั่นมาแรงเป็นทิศทางของโลกกำลังไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้า เช่น สมาร์ทโรบอทหรือหุ่นยนต์อัจฉริยะซึ่งพัฒนาไปไกลทำอะไรได้มากกว่าที่คิดที่เห็นชัดเจนคือโดรนสอดแนมของสหรัฐติดอาวุธไฮเทคไร้คนขับที่ถูกอิหร่านยิงตก โดรนเพื่อสันติที่ประเทศไทยมีการนำมาใช้ในด้านการเกษตรสมาร์ทฟาร์มและสำรวจทางอากาศที่กำลังจะตามมาติดๆคือรถไร้คนขับ ในภาคอุตสาหกรรมมีการใช้หุ่นยนต์และแขนกลอัตโนมัติแทนแรงงานมนุษย์

โรบอทและระบบออโตเมชั่นปัจจัยเร่งมาจากประเทศที่พัฒนาแล้วขาดแคลนแรงงานและแข่งขันกับประเทศเกิดใหม่ไม่ได้มีการผลิตเป็นเชิงพาณิชย์นับวันราคาถูกลง หุ่นยนต์ครองโลกคงไม่ได้อยู่แต่ในหนัง ฮอลลีวูดหรือนิยายวิทยาศาสตร์แต่จะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของสังคม ประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆของโลกที่มีการนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอีกทั้งนโยบายของรัฐบาลมีการผลักดันเต็มที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติในพื้นที่อีอีซีให้การส่งเสริมการลงทุนแบบสุดๆ

สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์มีเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล “Digital Park Thailand” ใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านเพื่อเป็นศูนย์พัฒนาหุ่นยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของภูมิภาค

จากข้อมูลของสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)ระบุว่าจำนวนหุ่นยนต์ของไทยมีถึง 23,893 ตัวเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนทิ้งห่างสิงคโปร์ 3.2 เท่า, มาเลเซีย 4.2 เท่าและทิ้งห่างประเทศเวียดนามแบบ ไม่เห็นฝุ่นถึง 12.3 เท่า ในอนาคตจะเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ระดับโลกปัจจุบันมีบริษัทผลิตระบบหุ่นยนต์ทั้งที่ดำเนินการแล้วและได้รับอนุมัติจากบีโอไอมากกว่า 60 บริษัท เคยมีโอกาสเข้าไปดูโรงงานหลายแห่งที่นำหุ่นยนต์อัตโนมัติและกึ่งทำงานร่วมกับคนที่เรียกว่า “Co-bots”พบว่าหนึ่งตัวใช้แทนคนได้เป็นสิบ ทางผู้บริหารบอกว่าหากใช้เต็มพิกัดคนในสายการผลิตจะหายไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

หุ่นยนต์ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์และเริ่มเข้าไปในหลายอินดัสตรีที่ใช้แรงงานคนมากๆ แม้แต่ในคลังสินค้าสมัยใหม่มีการใช้หุ่นยนต์และแขนกลอัตโนมัติในการยกของนำไปเก็บหรือส่งมอบโดยไม่ต้องใช้แรงงาน

ขณะที่ชีวิตประจำวันของผู้คนเกี่ยวข้องกับระบบออโตเมชั่นซึ่งเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลใช้เอไอควบคุม เช่น ระบบออนไลน์ในรูปแบบต่างๆรวมไปถึง e-Wallet ที่ใช้ในการเบิก-ฝาก-โอนหรือทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ ทำให้สถาบันการเงินต่างๆทยอยปิดสาขาคาดว่า 2-3 ปีข้างหน้าอาจหายไปถึงครึ่งหนึ่ง แม้แต่การจองโรงแรมห้องพักหรือการซื้อสินค้าปัจจุบันนิยมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ในสัดส่วนที่เกินครึ่งเห็นได้ว่าทั้งหุ่นยนต์และดิจิทัลอัตโนมัติจะเข้ามาทำหน้าที่แทนแรงงานมนุษย์เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ไกลตัว

คำถามตกลงแล้วเทคโนโลยีเหล่านี้จะมาช่วยคนทำงานหรือมาแย่งงานมนุษย์ ผมเคยจัดประชุมคนเป็นหลักหลายร้อยมีทั้งภาครัฐ นักวิชาการ นายจ้าง สหภาพแรงงาน คำตอบที่ได้ยังคลุมเครือบางกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายจ้างบอกว่ามาช่วยงานทำให้สะดวกและรวดเร็วกว่าเดิม แต่กลุ่มที่ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการและกลุ่มแรงงานเห็นว่าหุ่นยนต์อัตโนมัติเหล่านี้จะเข้ามาแย่งงานเสียมากกว่า สอดคล้องกับรายงานในต่างประเทศทั้งองค์กรแรงงานโลกและธนาคารโลกชี้ไปในทางว่าจะมีผลต่อการจ้างงานในอนาคตค่อนข้างสูง

สถาบันที่น่าเชื่อถือ “ออกซฟอร์ด อีโคโนมิก” ระบุว่าภายใน 10-15 ปีข้างหน้าแรงงาน 20 ล้านคนของโลกทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการจะสูญเสียตำแหน่งงานถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และสมาร์ทเทคโนโลยีและระบุเพิ่มเติมว่าในปี ค.ศ.2030 คนทำงานจะถูกเอไอแย่งงาน โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบมากจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐ โดย 1 ใน 4 ของคนทำงานอาจได้รับผลกระทบ ขณะที่ประเทศจีนอาจมีผลต่อแรงงานร้อยละ 16 และอินเดียร้อยละ 9 โดยไทยก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

ประเด็นคือคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นแม้แต่พวกเราก็ติดเทคโนโลยีทั้งเฟสบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรมกันแบบ งอมแง่มไม่เชื่อออกจากบ้านลืมกระเป๋าตังได้แต่ลืมมือถือไม่ได้ต้องกลับมาเอา สังคมออนไลน์ของไทยติดอันดับโลกมีผู้ใช้หมายเลขมือถือถึง 124 ล้านหมายเลข ประชากรเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 45.2 ล้านคน, เฟสบุ๊ค 52 ล้านแอคเคาท์, ไลน์ 44 ล้านแอคเคาท์, การซื้อขายสินค้าออนไลน์อยู่ในอันดับต้นๆของเอเซียปีที่แล้วมีมูลค่าถึง 8.0 แสนล้านบาททิ้งห่างสิงคโปร์ 5.3 เท่าและทิ้งห่างเวียดนามเกือบ 3 เท่า มูลค่าอีคอมเมิร์ชของไทยโตแบบก้าวกระโดด ปีที่แล้ว 3.15 ล้านล้านบาทอัตราการเติบโต 14% ติดอันดับโลกเช่นกัน

ตัวเลขที่ยกมาแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่กำลังเร่งตัวใช้เทคโนโลยี แต่ในภาคประชาสังคมกำลังเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆในชีวิตประจำวัน เมื่อแทรนด์ทิศทางเป็นอย่างนี้เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ก็ต้องอยู่กับเทคโนโลยีให้ได้ ปรับทักษะใหม่และต้องเป็นทักษะประเภทหลากหลาย (Multi-skill) “อย่าให้กลายเป็นของบูดในองค์กรไม่งั้นต้องถูกเอาไปทิ้ง” โดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ขึ้นไปซึ่งถือว่าเป็นแรงงานอายุมากลูกยังไม่โต ภาระยังมี ผ่อนบ้านผ่อนรถหนี้ต่างๆยังไม่หมดต้องอยู่กับงานอีกนาน

ความท้าทายคือต้องทรานซ์ฟอร์มเปลี่ยนผ่านไปให้ได้ หุ่นยนต์จำพวกที่กล่าวมานี้เป็นไฮเทคสมาร์ท โรบอทไม่ใช่หุ่นยนต์สังกะสีแบบไขลานหรือเป็นพวกหุ่นกระบอกแบบที่เห็นในรัฐสภามีสายคอยชักจะให้ยกมือก็ดึงเชือกหรือจะให้อยู่นิ่งๆก็หย่อนเชือก...อย่างนี้ไม่เอาครับ
(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)