posttoday

DEBUT‘พอพงษ์ ชินวัตร’นักบริหารรุ่นใหม่ผู้ถือคติ'หมวกแต่ละใบต้องสวมให้ถูกจังหวะ' 

07 มกราคม 2565

อีกหนึ่งนักธุรกิจรุ่นใหม่ ‘ต๋อง-พอพงษ์ ชินวัตร’ วัย 31 ปี ด้วยโปรไฟล์ทายาทสายชินวัตร ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท End of Waste ธุรกิจบริหารจัดการของเสียจากเศษอาหารสู่ By Product

พร้อมเปิดแนวคิด ชีวิต ตัวตน การทำงาน เป็นครั้งแรกกับ ‘โพสต์ทูเดย์’  

DEBUT‘พอพงษ์ ชินวัตร’นักบริหารรุ่นใหม่ผู้ถือคติ'หมวกแต่ละใบต้องสวมให้ถูกจังหวะ' 

เห็นโอกาสจากพลังงานสะอาด 

พอพงษ์ ย้อนจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจด้านการลงทุนส่วนตัวและธุรกิจค้าปลีก ตั้งแต่อายุ25 ปี ซึ่งปัจจุบันธุรกิจนี้ค่อนข้างจะอยู่ตัวแล้วในระดับหนึ่ง และมองเห็นว่ามีโอกาสดีในการต่อยอด ‘คอนเน็กชัน’ ไปสู่การทำผลิตภัณฑ์อื่นๆได้อีกในอนาคต 

โดยเฉพาะในช่วง1- 2 ปีที่ผ่านมา ‘พอพงษ์’ บอกว่ามองเห็นโอกาสใหม่ในธุรกิจบริหารจัดการขยะ จากการนำของเสียเศษอาหารประเภทต่างๆที่มีปริมาณมากในแต่ละวัน นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการแปรรูปเป็น ‘น้ำและดิน’ เพื่อหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้ใหม่จากการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี เข้ามาบริหารจัดการ 

จากไอเดียนี้เอง ได้นำมาสู่การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท End of Waste ในช่วงปี 2563 ร่วมกับพาร์ทเนอร์ชาวสิงคโปร์ ซึ่งมองเห็นโอกาสเดียวกันนี้ด้วยจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ในปัจจุบันที่ตอบโจทย์กระแสหลักด้าน Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียนในเวลานี้และอนาคต ได้เป็นอย่างดี    

‘ชินวัตร’ ความท้าทายการทำงาน

พอพงษ์ บอกว่าด้วยความเป็นคนจากตระกูล ‘ชินวัตร’ ในฐานะลูกชายคนที่สามของครอบครัว (พายัพ-พอฤทัย ชินวัตร) และหลานชายอดีต 2นายกรัฐมนตรี (ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ต่อการลงมาทำธุรกิจของตัวเองในช่วงจังหวะเวลานี้ ซึ่งเจ้าตัวมองว่าเป็น ‘ความท้าทาย’ มากกว่าเป็นความกดดันในการทำงาน  ด้วยเรื่องเหล่านี้เป็นคำถามที่เจ้าตัวพบมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ  

“ในช่วงรัฐประหารปี2549 ผมเตรียมศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ พอมีเหตุการณ์นี้่เกิดขึ้นครอบครัวตัดสินใจให้กลับมาไทยเพื่อให้บ้านเราได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน และเมื่อมาเรียนในไทยก็มีหลายคนถามคำถามลักษณะนี้บ้าง แต่ก็มองว่าไม่ใช่เรื่องที่แฮนเดิลไม่ได้เพราะชีวิตต้องเดินไปต่อ ซึ่งในช่วงนั้นได้รับแรงกดดันบ้างนิดหน่อย แต่ที่บ้านมักสอนเสมอว่าชีวิตคนมีแต่ละช่วงเวลาที่ต้องสวมหมวกแต่ละใบที่จะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในเวลานั้น และการที่เรามีนามสกุลชินวัตร ก็เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดไม่ได้เป็นสิ่งที่เรารับมือไม่ได้” พอพงษ์ ขยายภาพความคิด 

สังคมการเมือง ต้องควบคู่กัน

เมื่อถามถึง ‘เป้าหมายการทำงาน และสนใจงานด้านการเมือง’ ในเวลานี้ หรือไม่? พอพงษ์ บอกว่า Core Value ของครอบครัวชินวัตร คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองมาโดยตลอด เริ่มจากตัวคุณปู่(เลิศ ชินวัตร) เองก็เป็นอดีตนักการเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ตัวคุณพ่อ คุณลุง หรือ คุณอา เองก็ทำงานด้านการเมือง ซึ่งยังไม่รวมท่านอื่นๆในตระกูลอีกที่คลุกคลีในสายการทำงานด้านนี้ด้วยเช่นกัน 

“ส่วนตัวผมเป็นคนที่สนใจงานด้านสังคมทุกประเภท ซึ่งก็ได้มาจากครอบครัวเองด้วยที่ปลูกฝังเรื่องนี้อย่างตัวคุณพ่อเองจะเป็นสายธรรมสังคม ตัวพี่ชายก็ทำธุรกิจด้านพลังงานสะอาด ซึ่งอย่างหลังมองว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของงานสังคมรูปแบบหนึ่ง ส่วนตัวผมเองได้มาจับงานด้านบริหารจัดการขยะก็เป็นอีกแนวทางของงานสังคม ซึ่งหากการเมืองเป็นเรื่องของสังคม ก็มองว่ามีความน่าสนใจหากเราได้เข้ามามีส่วนร่วมที่เป็นประโยชน์ในเรื่องนี้” 

DEBUT‘พอพงษ์ ชินวัตร’นักบริหารรุ่นใหม่ผู้ถือคติ'หมวกแต่ละใบต้องสวมให้ถูกจังหวะ' 

หมวกแต่ละใบต้องใส่ให้ถูกจังหวะ 

ในฐานะผู้บริหารธุรกิจรุ่นใหม่ ด้วยวัยเพียง31 ปี ‘พอพงษ์’ บอกเป้าหมายชีวิตในเวลานี้ คือ ‘การสวมหมวกนักธุรกิจ’ โดยในชั่วโมงการทำงาน หมวกใบแรกที่จะต้องหยิบมาใส่ คือ ‘หมวกผู้บริหาร’ ด้วยจะต้องโฟกัสการทำงานเป็นอันดับแรก สิ่งที่ต้องทำ คือ การมองหาโซลูชันต่างๆมาใช้ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเทคโนโลยี ที่ต้องยอมรับว่ามีบทบาทและเป็นเครื่องมือหลักต่อการทำงานในยุคดิจิทัลนี้ ซึ่งจะต้องนำเรื่องนี้มาคิดและต่อยอดร่วมกับพาร์ทเนอร์ และ ลูกค้า เพื่อสร้างการทำงานให้ราบรื่น 

ส่วนหลังชั่วโมงทำงานแล้ว แน่นอนว่า พอพงษ์ เลือกที่จะใส่หมวกการใช้ชีวิตในรูปแบบของตัวเอง ด้วยยึดหลัก Work Hard Play Hard เมื่อทำงานให้เต็มที่แล้วการใช้ชีวิตก็ต้องจัดเต็มไปด้วยเช่นกัน ทั้งการท่องเที่ยว อีเวนต์ปาร์ตี ก็ต้องมีบ้าง

รวมทั้งการให้ความจริงใจทั้งกับพันธมิตรและลูกค้า ที่จะต้องเต็มที่ในการดูแล ที่เจ้าตัวบอกว่า การร่วมโต๊ะเอ็นจอยกับลูกค้ายังจะช่วยให้การพูดคุย หรือ การเจรจาทางธุรกิจ ได้อีกระดับหนึ่งด้วยหากมีการลงลึกถึงรายละเอียดตัวงานและมีการใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาแล้ว หากไม่เหมาะกับลูกค้าเราก็ยอมถอยไป เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในระยะยาวต่อไป 

“คติในการทำงาน คือ ครอบครัวจะบอกอยู่เสมอเรื่องของหมวกแต่ละช่วงเวลา ที่เราจะต้องใส่ใบไหน อย่าเวลานี้ คือ ใส่หมวกของผู้บริหาร ต้องถอดหมวกของตัวเองออกไปก่อน หรือพอได้ใช้ชีวิตของตัวเอง อย่างการไปเที่ยว ก็จะเป็นหมวกอีกใบ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีหมวกแต่ละใบไม่เหมือนกัน” 

พอพงษ์ ปิดท้ายว่า เห็นมีหมวกต้องสวมหลายใบแบบนี้ แต่ว่าตอนนี้หมวกที่ยังขาดอยู่ คือ “หมวกของครอบครัว” ด้วยเจ้าตัวยังไม่มีภรรยา ที่บอกว่าส่งผลดีในเวลานี้ ด้วยทำให้ค่อนข้าง’ Flexible ในการทำงานได้อย่างเต็มที่ และเป็นตามเป้าหมาย คือ การทำธุรกิจ End of Waste ที่มองว่าเป็นโอกาส หากไม่โฟกัสตอนนี้ก็อาจจะไม่ทันการณ์ 

เป็นการปิดการขายของเจ้าตัวแบบซอฟต์ๆ 

ดย ดวงใจ จิตต์มงคล