posttoday

บีโอไอเปิดโอกาสลงทุน ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า

06 สิงหาคม 2562

อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย มีพัฒนาการมากว่า 50 ปี และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการสร้างรายได้ สร้างงาน รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป

อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย มีพัฒนาการมากว่า 50 ปี และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการสร้างรายได้ สร้างงาน รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพ ขนาด 1 ตัน ซึ่งถือเป็นโปรดักท์แชมเปี้ยนตัวแรกของประเทศ และขยายไลน์ไปสู่การผลิตรถยนต์ประเภทต่างๆ อาทิ รถยนต์นั่ง รถอเนกประสงค์ เป็นต้น

ประกอบกับสังคมทั่วโลกมีความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน ประเทศไทยจึงมุ่งไปสู่การพัฒนารถยนต์พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก โดยบีโอไอมีบทบาทในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ประเภทใหม่ในประเทศไทย เพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาดส่งออกให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในระยะยาว

บีโอไอจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ เมื่อปี 2550 และปัจจุบันตลาดโลกกำลังให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือ EV บีโอไอจึงไม่หยุดนิ่งโดยได้ออกแพคเกจมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้

สำหรับมาตรการส่งเสริมกิจการรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles - HEV) 2.กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicles - PHEV) 3.กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles – BEV) 4.กิจการผลิตรถโดยสารแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Bus) 5.กิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และ 6.กิจการผลิตชิ้นส่วน และอุปกรณ์ สำหรับรถยนต์ HEV BEV และ PHEV

ทั้งนี้ กิจการในกลุ่ม 1-5 ได้สิ้นสุดการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้วเมื่อปี 2561 แต่ในกลุ่มที่ 6 ผู้ประกอบการยังสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ ซึ่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นหัวใจสำคัญใน 2 การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต กิจการผลิตชิ้นส่วน และอุปกรณ์ สำหรับรถยนต์ HEV BEV และ PHEV ที่บีโอไอให้การส่งเสริม มีทั้งหมด 13 ผลิตภัณฑ์

ได้แก่ 1.กิจการผลิตแบตเตอรี่ 2. กิจการผลิต Traction Motor 3.กิจการระบบปรับอากาศด้วยไฟฟ้าหรือชิ้นส่วน 4.กิจการผลิตระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) 5.กิจการผลิตระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) 6.กิจการผลิต On-Board Charger 7.กิจการผลิตสายชาร์จแบตเตอรี่พร้อมเต้ารับ-เต้าเสียบ 8.กิจการผลิต DC/DC Converter 9.กิจการผลิต Inverter 10.กิจการผลิตอุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่แบบพกพา 11.กิจการผลิต Electric Circuit Breaker 12. กิจการพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ และ 13. กิจการผลิตคานหน้า/คานหลังสำหรับรถโดยสารไฟฟ้า

ทั้ง 13 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี และหากผลิตในพื้นที่อีอีซี จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 3-5 ปี รวมทั้งได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน แบ่งเป็นประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (HEV) 5 ราย รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) 8 ราย รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) 20 ราย รถโดยสารไฟฟ้า 2 ราย สถานีชาร์จ 8 ราย และผลิตแบตเตอรี่ 11 ราย โดยในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกิจการถยนต์ไฟฟ้านั้น คาดว่าบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอจะมีการลงทุนรวม 257 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,000 ล้านบาท และมีกำลังการผลิตราว 4 แสนยูนิตต่อปี

มาตรการส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะมีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโลก โดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (Internation Energy Agency: IEA) เปิดเผยรายงาน “Global EV Outlook 2019” พบว่า ในปี 2561 ยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก อยู่ที่ 5.1 ล้านคัน เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปี 2560 อยู่ที่ 2 ล้านคัน โดยจีน เป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ตามด้วยยุโรป และสหรัฐอเมริกา

ผู้ประกอบการที่สนใจ ติดต่อขอรับการส่งเสริมได้ที่สำนักงานบีโอไอ โทรศัพท์ 0 2553 8111 หรือ อีเมล [email protected] หรือติดต่อด้วยตนเองที่สำนักงานบีโอไอ

บีโอไอเปิดโอกาสลงทุน ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า