posttoday

ไทยน่าลงทุนอุตฯดิจิทัลมากสุด สิทธิประโยชน์เพียบ ชงต่ออายุลดหย่อนภาษีซอฟแวร์200%

22 กรกฎาคม 2562

'ดีป้า'โชว์ผลศึกษาเทียบมาตรการลงทุนอุตสาหกรรมดิจทัล ดีกว่าต่างประเทศ เหตุสิทธิประโยชน์ภาษีเอื้อการลงทุน เตรียมเสนอครม.ต่ออายุลดหย่อนภาษีซอฟแวร์ 200% อีก 3 ปี

'ดีป้า'โชว์ผลศึกษาเทียบมาตรการลงทุนอุตสาหกรรมดิจทัล ดีกว่าต่างประเทศ เหตุสิทธิประโยชน์ภาษีเอื้อการลงทุน เตรียมเสนอครม.ต่ออายุลดหย่อนภาษีซอฟแวร์ 200% อีก 3 ปี

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ได้นำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของไทยกับต่างประเทศ เพื่อปรับกลยุทธ์ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนไทยและต่างชาติมากยิ่งขึ้น และผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย รวมทั้งความคืบหน้าการต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษี 200% ให้สอดรับกับสถานการณ์การพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สามารถสนับสนุน กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลชาวไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลตามแผนและนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ผลการศึกษา พบว่า ประเทศไทยมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ดีกว่าต่างประเทศ ทั้งในด้านระยะเวลาการยกเว้นภาษี และอัตราการลดหย่อนภาษี สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการทางภาษีของไทยมีความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนค่อนข้างสูง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณามาตรการทางการเงินอื่น ๆ พบว่า ประเทศไทยและต่างประเทศนิยมใช้มาตรการให้เงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนภายใต้วัตถุประสงค์ต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และการทำการตลาด เป็นต้น โดยมีจำนวนเงินและกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม มีบางมาตรการที่ดำเนินการในต่างประเทศ แต่ยังไม่พบในประเทศไทย อาทิ การให้เครดิตภาษีเพื่อการวิจัยและพัฒนา การยกเว้นภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการให้เงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการจ้างงานและค่าเช่า เป็นต้น

นอกจากนี้ข้อเสนอสำคัญ 4 ประเด็นในการผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล ได้แก่ 1. การสร้างอุปสงค์ที่เพียงพอในการชักจูงการลงทุน (Securing Sizable Demand)2.ศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ระบบดิจิทัล (Digital One – Stop Service: DOSS) 3.สนามทดสอบธุรกิจดิจิทัล (Digital Regulatory Sandbox) และ 4. กองทุนร่วมทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Venture Capital Fund for SMEs)ซึ่งเป็นข้อเสนอเพื่อการดึงดูดการลงทุนในระดับพื้นที่ โดยข้อเสนอเหล่านี้เป็นการประยุกต์มาตรการที่มีการดำเนินการในต่างประเทศที่ได้จากการวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย

สำหรับการต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษี 200% สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ซื้อหรือใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากนักพัฒนาหรือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่ขึ้นทะเบียนกับดีป้า โดยอยู่ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทนั้น ปัจจุบันดีป้าเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่ออายุมาตรการดังกล่าว โดยในครั้งนี้ได้ปรับปรุงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ด้วยการขยายระยะเวลาไปอีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2565 และปรับวงเงินสูงสุดที่สามารถขอยกเว้นภาษีได้จาก 100,000 บาท เป็น 200,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับมูลค่าของวงเงินที่เอื้อให้ผู้ประกอบการฯ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีตามสถานการณ์ปัจจุบันได้

นอกจากนี้ได้ขยายขอบเขตมาตรการจากเดิมมีครอบคลุมเฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นครอบคลุมใน 3 สาขาหลักที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ได้แก่ ซอฟต์แวร์ (Software)ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware & Smart Device)และบริการดิจิทัล (Digital Service)ที่มีการผลิตและขายอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อัจฉริยะที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การขาย และบริการด้านดิจิทัล

รวมไปถึงการให้คำปรึกษาและบริการออกแบบระบบ และบริการดิจิทัล โดยจากการประเมินผลการใช้มาตรการนี้ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ประกอบการที่มาขึ้นทะเบียนตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 – 30 เม.ย. 2562 มากกว่า 140 ราย และคาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านซอฟต์แวร์เป็นจำนวน 1,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าแม้มาตรการนี้จะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีมากกว่า 567 ล้านบาท แต่สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการใช้เทคโนโลยีและการลงทุนปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation)เพิ่มขึ้นกว่า 3,158 ล้านบาท