posttoday

ค่าจ้างขั้นต่ำประชารัฐ...ประเทศจะเสียหายต้องไม่ให้นักการเมืองเอาไปหาเสียง

22 กรกฎาคม 2562

โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) เป็นค่าแรงที่กฎหมายให้การคุ้มครองที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้กับลูกจ้างทุกคนไม่ว่าจะเป็นวัยทำงานไปจนถึงคนชรา จะมีหรือไม่มีการศึกษา เป็นคนพิการหรือเป็นเพศใดแม้แต่แรงงานต่างด้าวทำงานไม่เป็นหรือพูดภาษาไทยไม่รู้เรื่องต้องจ่ายค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ประเทศไทยมีการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำเหมือนกับหลายประเทศในโลกมีมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2516 เริ่มจากวันละ 12 บาท ใช้เฉพาะในกรุงเทพฯ อัตราค่าจ้างให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างเป็นองค์กรไตรภาคีมีผู้แทน นายจ้าง-ลูกจ้างและตัวแทนภาครัฐเพื่อพิจารณาและถ่วงดุล ในต่างจังหวัดมีอนุกรรมการค่าจ้างให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แต่เดิมปัญหาค่าจ้างมีการสไตรค์นัดหยุดงานรายวันเพราะมีพวกนักการเมืองหรือมือที่สามเข้าไปป่วนวุ่นวาย แต่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาปัญหาพวกนี้แทบจะหมดไปเพราะเขาดูแลกันเอง

ค่าจ้างขั้นต่ำกลับมาเป็นประเด็นเพราะช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงพรรคใหญ่แกนนำเช็คเรทติ้งไม่ค่อยดีเปิดแคมเปญสัญญาจะจ่าย 400 – 425 บาททำให้พรรคต่าง ๆ หันกลับมาใช้ประเด็นนี้หาเสียงเมื่อพูดไปแล้วกลุ่มแรงงานประเภทฮาร์ดคอร์เขาก็จ้องว่าจะประกาศเมื่อใด ครั้นจะให้ตามที่หาเสียงก็รู้ดีแก่ใจว่าธุรกิจใหญ่เล็กจะพังหมดแค่ปัญหาส่งออกถดถอยและจีดีพีกำลังเตี้ยลงก็เป็นเรื่องหนักหนาแก้ไม่ตกอยู่แล้วทำให้เห็นสัญญาทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแกนนำ เช่น คลัง, อุตสาหกรรมและแรงงาน ส่งสัญญาณว่า “ให้น่ะให้” แต่ต้องคำนึงว่าปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและต้นทุนจะลามไปถึงส่งออกและราคาสินค้าจะสูงทำให้ประชาชนเดือดร้อนโยนเรื่องกลับไปให้คณะกรรมการไตรภาคีไปพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่มีและค่าจ้างตามอัตราที่เหมาะสม

อยากจะชี้ให้เห็นปัญหาไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นนายจ้างอยากจ่ายหรือไม่ต้องการจ่ายแต่อยากชี้ให้เห็นว่าหากใช้อัตรานี้จริงจะเป็นหายนะทางเศรษฐกิจในระยะยาว ลองคำนวณคร่าว ๆ อัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นจะอยู่ระหว่างวันละ 70 - 92 บาทแตกต่างตามจังหวัดที่ฐานค่าจ้างต่างกัน หากใช้ค่าเฉลี่ยการอัตราค่าจ้างครั้งนี้จะทำให้ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นวันละ 81 บาทหรือเดือนละประมาณ 2,100 บาท โรงงานเล็ก ๆ คนงานแค่ร้อยคน ปีหนึ่งต้องจ่ายเพิ่มถึง 4.0 ล้านบาท หากพนักงานเป็นพันจะต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าไรก็ลองไปคำนวณดู เขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายและต้นทุนที่เพิ่มที่สุดก็จะไปอยู่ในราคาสินค้า ราคาของที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้เงินหายไปจากกระเป๋ากระทบไปถึงการชะลอตัวของการบริโภคที่สุดก็วนเวียนไปทำให้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมลดลง ใช้คนน้อยลงหรือเอาเครื่องจักรเข้ามาแทน

ผลกระทบจัง ๆ ที่อยากจะให้เห็นคือส่งออกแค่เงินบาทแข็งร่อแร่หากค่าแรงประชารัฐเพิ่มเข้าไปอีกคงยับเยิน ปัจจุบันค่าแรงของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไปจ้างถูก ๆ แบบพวกเขาเพียงแต่ว่าช่วงห่างก็อย่าทิ้งกันจนแข่งขันไม่ได้ ขอยกตัวอย่างค่าแรงประเทศเพื่อนบ้านซึ่งแต่ละจังหวัดหรือแขวงแตกต่างกัน อัตราที่นำมาเปรียบเทียบเป็นค่าจ้างในเมืองหลวง เช่น ประเทศเวียดนามวันละ 175 บาท, เมียนมา 125 บาท, สปป.ลาว 158 บาท, กัมพูชาค่าจ้างขั้นต่ำมีหลายอัตราสูงสุดประมาณ 150 บาท ลองเอามาเฉลี่ยพบว่าค่าจ้างของไทยสูงกว่า 2 เท่าหากปรับตามที่หาเสียงจะสูงกว่า 2.63 เท่า ขณะที่สินค้าส่งออกก็คล้าย ๆ กันแล้วจะเอาอะไรไปสู่เขา ราคาสินค้าที่ขายกันในประเทศคงอึดกันได้สักระยะที่สุดคงทยอยปรับราคาไปตามต้นทุนกลายเป็นว่าประชาชนส่วนใหญ่รับกันไปเต็ม ๆ โดยเฉพาะเกษตรกร, แม่บ้าน, คนเกษียณออกจากงานหรือคนชราที่ไม่มีงานทำ

บทความนี้ไม่มีเจตนาว่าไม่ควรปรับค่าจ้างเพราะเข้าใจดีว่าต้องกินต้องใช้แต่ควรเป็นอัตราที่เหมาะสมทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและเศรษฐกิจของประเทศสามารถไปด้วยกันได้แต่ไม่ใช่การปรับอัตราสุดโต่งแบบที่นำมาใช้หาเสียง อยากให้สังคมไทยตระหนักและไม่ยอมให้นักการเมืองหรือคนที่เขาอยากอยู่ในอำนาจเข้ามาแทรกแซงเรื่องค่าจ้าง ถึงแม้ว่าผู้ใช้แรงงานในช่วงสั้น ๆ จะได้เงินมากขึ้นแต่ในระยะยาวจะไม่คุ้มเพราะการลงทุนที่ใช้คนมาก ๆ จะย้าย ผู้ประกอบการจะเร่งตัวใช้นวัตกรรมและระบบออโตเมชั่นเทคโนโลยีเข้ามาแทนคนเพราะจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น ต้นทุนค่าแรงลดลงและปัญหาก็น้อยลง พวกแรงงานคงเฮได้พักหนึ่งหลังจากนั้นจะทำอย่างไร

ในรัฐสภาขออย่าให้เอาประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำไปเป็นเกมส์การเมืองโดยเอาประเทศเป็นเดิมพันต้องหาทางจะออกกฎหมายไม่ให้ในอนาคตผู้สมัครส.ส.หรือส.ว.ใช้ค่าจ้างขั้นต่ำหาเสียง ให้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายถึงขั้นยุบพรรค การปรับค่าจ้าง 400 บาทไม่ควรไปผูกกับนายจ้างเอาเปรียบหรือลูกจ้างไม่พอกินเป็นปัญหาโลกแตกอยู่ที่จะกินอะไรแค่ไม่กินเหล้า-ไม่ซื้อเครื่องดื่มชูกำลัง-ไม่สูบบุหรี่แค่นี้ประหยัดได้วันเป็นร้อย ต้องไม่ยอมให้เอาค่าจ้างเป็นเกมส์การเมืองสู่อำนาจถูกดึงเอาเป็นเครื่องมือหาเสียง ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างตามกฎหมาย รัฐบาลอย่าไปยุ่งเพราะจะยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ใครหาเสียงสัญญาไว้ก็ต้องกลืนน้ำลายตัวเองขนาดเลือดเห็นว่ายังกลืนได้ อย่านำเศรษฐกิจประเทศไปผูกกับค่าจ้างเพียงเพราะอยากเป็นรัฐบาล...ไม่คุ้มกันครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)