posttoday

กนอ.ตั้งนิคมฯโรจนะชลบุรี2รองรับEEC

10 กรกฎาคม 2562

กนอ.ทุ่มงบกว่า 2,000 ล้านบาท ตั้งนิคมฯโรจนะชลบุรี2 รับทุนไทย-เทศเข้าลงทุนปี 2564

กนอ.ทุ่มงบกว่า 2,000 ล้านบาท ตั้งนิคมฯโรจนะชลบุรี2 รับทุนไทย-เทศเข้าลงทุนปี 2564

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยวันนี้ (10 กรกฎาคม 2562) ว่า กนอ.และบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) ตำบลเขาคันทรง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่กว่า 900 ไร่ มูลค่าการลงทุน รวม 2,100 ล้านบาท รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ตามนโยบายของภาครัฐ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบครบวงจร อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร และอุตสาหกรรมเบา เป็นต้น

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เป็นพื้นที่การลงทุนใหม่ในภาคตะวันออกที่ได้ยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมตามโครงการอีอีซีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และเมื่อรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 1 ปี โดยจะพร้อมเปิดรับนักลงทุนที่สนใจเข้าใช้พื้นที่ประกอบกิจการได้ในเชิงพาณิชย์ในราวปี 2564

สำหรับรูปแบบการจัดตั้งนิคมฯ ได้ออกแบบโดยให้ความสำคัญในการพัฒนารอบพื้นที่ทั้งหมดของโครงการฯตามแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco-Industrial Town ประกอบด้วย พื้นที่สีเขียว พื้นที่แนวกันชนแบบเชิงนิเวศ หรือ Eco-Belt รวมถึงการออกแบบให้มีการบริหารจัดการด้านการบำบัดน้ำเสียให้สามารถนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาปรับปรุงคุณภาพ และนำไปใช้ประโยชน์ภายในโครงการใหม่อีกครั้ง (Recycle) เพื่อลดอัตราการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่ด้วย

น.ส.สมจิณณ์ กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) ในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น และ ยุโรป ที่สนใจในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งทางทำเลที่ตั้ง และความพร้อมด้านโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายทางด่วนมอเตอร์เวย์ ทางด่วนบางนา-ชลบุรี ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินแห่งชาติสุวรรณภูมิ ที่จะมีส่วนช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ระบบการขนส่งและการกระจายสินค้าในภาคการผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งนิคมฯ ดังกล่าว ยังเป็นพื้นที่เป้าหมายของรัฐบาลที่สามารถยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้ ดังนั้นด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้ กนอ.เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการดึงดูดการลงทุนเข้าไทยมากกว่า 6,000 ล้านบาท และเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ได้มากกว่า 10,000 อัตรา ในอนาคตต่อไป