posttoday

แผนพีดีพีสะดุด!!! เผือกร้อนรัฐบาลใหม่

09 กรกฎาคม 2562

ทีมข่าวเศรษฐกิจโพสต์ทูเดย์ ออนไลน์

ทีมข่าวเศรษฐกิจโพสต์ทูเดย์ ออนไลน์

หลังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งผลการวินิจฉัย ตามที่มีผู้ร้องกรณีกระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า โดยให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่า 51% อันขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 56 วรรคสอง โดยมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงพลังงานให้พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับ แต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัย และดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายในกำหนด 10 ปี

การวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ยึดหลักการจากสาระสำคัญของกฏหมายรัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ว่า กิจการที่เป็นสาธารณูปโภคที่จำเป็นต้องการ ดำรงชีวิตของประชาชน รัฐจะกระทำการใดให้ตกเป็นสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 51 % ไม่ได้ ซึ่งไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคประเภทหนึ่ง

ประเด็นดังกล่าว ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังกระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 หรือ พีดีพี 2018 ตลอดจนหุ้นในกลุ่มพลังงานที่ปรับลดลงทันทีอย่างเห็นได้ชัดเมื่อข่าวนี้ออกมา เนื่องจากส่งผลกระทบต่อบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านพลังงาน เพราะหากเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ. ก็ต้องหั่นสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากภาคเอกชน ย่อมมีผลต่อผลประกอบการทางธุรกิจ

การชี้แจงจากกระทรวงพลังงาน บอกแต่เพียงว่า จะเร่งพิจารณาข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน และยืนยันว่าแผนพีดีพี ได้เปิดให้เอกชนมี บทบาทร่วมในการผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงประกาศในแผนพีดีพี 2010 เมื่อปี 2553 แผนพีดีพี2015 ปี 2558 และล่าสุดแผนพีดีพี2018 ซึ่งยึดการดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด

ทั้งนี้ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.อยู่ที่ 34.9% และจะปรับลดในช่วงปี 2580 เหลือเพียง 24% ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากเอกชน ทั้งที่เป็นรายใหญ่รายเล็กรวมกัน 56.7% ส่วนที่เหลือเป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 8.4%

คำถามก็คือ สัดส่วนผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ซึ่งเป็นของภาครัฐน้อยกว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากภาคเอกชน จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านพลังงานหรือไม่ โดยเฉพาะการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศให้มีอย่างเพียงพอ

การกำหนดแผนผลิตไฟฟ้าต้องมองหลายปัจจัยประกอบกัน การที่มีหน่วยงานรัฐเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลัก ข้อดีก็คือ มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ สั่งการ และแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น โดยยึดหลักการสำคัญคือ ประชาชนต้องมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง ในทางกลับกันหากเปิดทางให้เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ากลุ่มใหญ่ อาจทำให้ขาดการกำกับดูแลที่ไม่คล่องตัว แม้จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไว้ชัดเจนก็ตาม ส่วนข้อดี ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาค่าไฟฟ้า และทำให้ธุรกิจด้านพลังงานมีการขยายตัว โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุน

นอกจากนี้ในเงื่อนไขของแผนพีดีพี 2018 แม้กฟผ.จะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่น้อยกว่า 51% แต่มีการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าตลอดแผน 3.50-3.63 บาทต่อหน่วย หรือเฉลี่ย 3.58 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันที่อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.63 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือเป็นข้อดีกับผู้ใช้ไฟฟ้าภาคประชาชน

นายไกรสีห์ กรรณสูต อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฟผ.ต้องมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของประเทศไม่ต่ำกว่า 50% เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้าโดยตรง และพร้อมที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าด้วย แต่ต้องยอมรับว่า  การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าของภาคเอกชน หากมองในเรื่องเสถียรภาพมีโอกาสที่จะเลิกผลิตไฟฟ้าเมื่อไหร่ก็ได้ หลังหมดสัญญาซื้อขายกันแล้ว ดังนั้นในอนาคตใครจะการันตีว่ากำลังผลิตไฟฟ้าจะมีต่อเนื่อง

นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆก็ต้องดูพิจารณาถึงปริมาณที่เหมาะสมและตำแหน่งที่เหมาะสมด้วย เช่น โซลาร์เซลล์ หรือพลังงานลม กรณีโซลาร์เซลล์ หากเป็นการติดตั้งบนหลังคาตามที่อยู่อาศัยหรืออาคาร ทีเรียกว่าโซลาร์รูฟท็๋อป นั้น เห็นด้วย  เพราะผลิตเองใช้เองได้ แต่ถ้าเป็นโซลาร์ฟาร์ม ใช้พื้นที่มากๆ ก็ต้องมีการลงทุนสร้างสายส่งไฟฟ้าเข้าไปด้วย ทำให้เกิดต้นทุน ยิ่งถ้าเป็นในพื้นที่ที่ไม่ได้มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากจะไม่เกิดความคุ้มทุน ประเด็นเหล่านี้ต้องคิดให้รอบคอบ

อย่างไรก็ตามในแผนพีดีพีของประเทศ สามารถปรับเปลี่ยนได้หากเห็นว่าสิ่งที่กำหนดมาไม่เหมาะสม และก็เชื่อว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็ต้องมีการทบทวนปรับกันอีกแน่นอน

ขณะที่อดีตผู้ว่าการกฟผ.อีกท่านได้ให้ความเห็นไว้ว่า การวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างอิงจากกฏหมายรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า กิจการสาธารณูปโภค รัฐต้องเป็นเจ้าของสิทธิไม่น้อยกว่า 51 % เพื่อให้เกิดความมั่นใจด้านความมั่นคงพลังงาน ในประเด็นนี้ต้องมาตีความกันอีกว่า ในกิจการไฟฟ้าสิทธิที่รัฐเป็นเจ้าของนั้นรวมระบบสายส่งไฟฟ้าด้วยหรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานที่ต้องชี้แจงให้เข้าใจถึงที่มาที่ไป ของแผนพีดีพี ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบาย ขณะที่กฟผ.เป็นเพียงหน่วยงานปฏิบัติเดินตามแผนที่วางไว้เท่านั้น

อย่างไรก็ตามในบางประเทศมีนโยบายให้เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันด้านค่าไฟฟ้าที่ถูก ผู้ใช้ได้ประโยชน์ ขณะที่ภาครัฐจะเป็นผู้กำกับนโยบายเท่านั้น แต่ในส่วนของไทยการเปิดโอกาสให้เอกชนผลิตไฟฟ้าแข่งกับกฟผ. คงต้องคำนึงชนิดของเชื้อเพลิงให้เหมาะสมด้วย หากปล่อยให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากเกินไปก็มีผลต่อค่าไฟฟ้า และความเสี่ยงเรื่องความไม่เสถียรในการผลิตไฟฟ้า เมื่อเทียบเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน

คำตอบของเรื่องนี้จะออกมาแบบไหน คงต้องรอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เข้ามารับลูกต่อ เพื่อขับเคลื่อนแผนพีดีพี ระยะุ20 ปี จะเป็นไปในทิศทางใด และจะใช้เหตุผลที่มีน้ำหนักแค่ไหนในการชี้แจงกับผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีระยะเวลาภายใน 120 วันและขยายเวลาต่อได้อีก 60 วัน

ท้ายสุดถ้าให้ประเมิน แผนผลิตไฟฟ้าคงไม่ได้เปลี่ยนไปจากหลักการเดิมมากนัก เพราะได้ผ่านขั้นตอนตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาอย่างถูกต้องแล้ว แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ห้องทำงานรัฐมนตรีคงไม่เงียบเหงา  มีใครหลายคนอยากเข้าพบ เนื่องจากการขยับแผนพีดีพีแต่ละครั้ง มีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ในคราวเดียวกัน