posttoday

ปตท.กางแผนจัดโรดโชว์ดึงลงทุนEECiชูวังจันทร์วัลเลย์ ฮับนวัตกรรม

27 มิถุนายน 2562

ปตท.เตรียมเปิดตัว Smart City ในพื้นที่ EECi พร้อมจัดทัพเดินสายโรดโชว์ ดึงนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ปลายปีนี้

ปตท.เตรียมเปิดตัว Smart City ในพื้นที่ EECi พร้อมจัดทัพเดินสายโรดโชว์ ดึงนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ปลายปีนี้

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมเปิดตัวเมืองอัจฉริยะ (Smart City) พื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ขณะเดียวกันในช่วงไตรมาส4หรือไตรมาสแรกของปี 2563 จะจัดคณะเดินสายโรดโชว์ ให้กับนักลงทุนทั้งในระดับสตาร์ทอัพจนถึงกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ หรือกลุ่มไบโอเทค ให้เข้ามาลงทุน โดยจะเริ่มจากการโรดโชว์ในไทย หลังจากนั้นจะเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี และยุโรป เพื่อชักชวนนักลงทุนเข้ามาใช้พื้นที่สร้างงานวิจัยและนวัตกรรม โดยคาดหวังโอกาสการพัฒนาโซลูชั่นและนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศในอนาคต

การจัดโรดโชว์ดังกล่าวจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ปัจจุบันปตท.มีพันธมิตรที่เข้ามาร่วมใช้พื้นที่ใน Innovation Zone ของ EECi บ้างแล้ว และยังมีพันธมิตรที่คาดว่าจะเข้ามาร่วมในอนาคตอย่างหัวเว่ย ,บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) ,กลุ่มจีอี , Schneider เป็นต้น โดยปตท.มีแผนเจรจากับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ราว 300-500 บริษัท ให้มาสร้างสรรค์งานวิจัยในพื้นที่ EECi เพิ่มเติมด้วย

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการปตท.ได้เห็นความสำคัญต่อโอกาสในการพัฒนางานวิจัยใหม่ๆเพิ่มเติม จึงได้จัดงบประมาณสนับสนุนต่อเนื่องไปอีก 10 จากปี 2565 - 2574 สำหรับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่เป็นแหล่งกำเนิดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า แผนการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของปตท. จะเป็นรูปแบบสมาร์ทซิตี้ โดยมีความเชื่อมโยงพลังงานหมุนเวียนมากที่สุด ทั้งการมีพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) ในการใช้งาน ระบบน้ำที่หมุนเวียนกลับมาใช้ได้ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกันเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ

ส่วนการพัฒนารูปแบบสมาร์ทซิตี้ในโครงการสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบรางของกรุงเทพมหานครและภูมิภาคนั้น ขณะนี้รอการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่สรุปรูปแบบการพัฒนา เบื้องต้นทางรฟท.อยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) หลังจากนั้นต้องรอดูว่าทางรฟท.จะให้ปตท.เข้าไปร่วมมือกันอย่างไร ซึ่งจากการประชุมร่วมกันค่อนข้างมีแนวโน้มที่ดีและยังมั่นใจว่าจะสามารถมีความร่วมมือระหว่างกันได้ดี