posttoday

'กรุงเทพธนาคม' แจงด่วน!!! ปมท่อร้อยสายลงดินกทม.ยันโปร่งใส

27 มิถุนายน 2562

'กรุงเทพธนาคม' ออกโรงโต้ ข้อสงสัยโครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ทุกขั้นตอนโปร่งใส ปัดเปิดทางให้ "ค่ายทรูฯ" รายเดียว เหตุค่ายอื่นไม่ยื่นข้อเสนอมา

'กรุงเทพธนาคม' ออกโรงโต้ ข้อสงสัยโครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ทุกขั้นตอนโปร่งใส ปัดเปิดทางให้ 'ค่ายทรูฯ' รายเดียว เหตุค่ายอื่นไม่ยื่นข้อเสนอมา

นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยในการแถลงตอบข้อสงสัยต่อโครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินของกรุงเทพมหานคร(กทม.)ว่า โครงการดังกล่าวจัดว่าเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกทม.โดยได้รับมอบหมายจากกทม.เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561

“เคทีก่อสร้างโครงข่ายเองและลงทุนเองทั้งหมด ต้องการหาผู้ใช้บริการที่มีศักยภาพ และไม่ได้ปิดกั้นรายอื่นๆด้วย โดยได้แบ่งความจุออกไป 80% ส่วนอีก 20% จะเปิดไว้รองรับรายอื่นๆ การคิดราคาไม่ได้คิดกำไร แต่เป็นการคิดจากต้นทุนที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดโดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกสทช. ทั้งนี้ยังเป็นการสนองนโยบายของรัฐที่สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันได้ โดยการศึกษาไว้คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการจริงไม่เกิน 10 ราย โดย 1 เส้นรองรับได้มากถึง 216 แกนจึงรองรับได้อย่างเพียงพอ”

นายเอกรินทร์ วาสนาส่ง รองกรรมการผู้อำนวยการสายยุทธศาสตร์และพัฒนาเมือง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที กล่าวว่า เมื่อเดือนม.ค. 2562 ได้ดำเนินการสรรหาผู้รับเหมางานโยธา(Engineering-Procurement-Construction : EPC) ทั้ง 4 โซนพื้นที่เพื่อออกแบบทางวิศวกรรม โดยมีผู้รับเอกสารทั้งสิ้น 55 ราย มายื่นข้อเสนอ 8 ราย แต่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 3 ราย และได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 62 จำนวน 3 ราย ประกอบไปด้วย พื้นที่ 1.โซนกรุงเทพเหนือ กิจการร่วมค้า เอสซีแอล,เอสทีซี และฟอสส์ พื้นที่ 2 กรุงเทพตะวันออก กิจการร่วมค้า เอดับบลิวดี พื้นที่ 3 กรุงธนเหนือ กิจการร่วมค้า จีเคอี แอนด์ เอฟอีซี และพื้นที่ 4 กรุงธนใต้ กิจการร่วมค้า เอสซีแอล,เอสทีซี และฟอสส์

นอกจากนั้นเคทียังดำเนินการสรรหาผู้ใช้บริการ สรรหาแหล่งเงินทุน ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง โดยกระบวนการสรรหาผู้ใช้บริการหลักนั้นได้เปิดให้ลงชื่อแสดงเจตจำนงในการยื่นข้อเสนอใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม จำนวน 9 ราย อีกทั้งเคทียังได้ส่งหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง จำนวน 16 ราย รวมเป็น 25 ราย ปรากฎว่ามีผู้รับเอกสารเชิญชวน 16 ราย แต่มีเพียง 1 รายที่ยื่นข้อเสนอ คือ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผ่านเกณฑ์คัดเลือกตามมาตรฐานที่กำหนดเมื่อวันที่ 24 พค. 2562

“ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเรื่องราคา ยังไม่ได้ลงนามสัญญาใดๆ ยืนยันว่ารูปแบบดำเนินโครงการไม่เข้าหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ไม่ได้มีการให้สัมปทาน หรือมีการโอนสิทธิ์แต่อย่างใด”นายเอกรินทร์ กล่าว

สำหรับประเด็นคำถามกรณีตัวเลขค่าบริการสูงถึง 21,000-27,000 บาท/ซับดัก/กิโลเมตร/เดือนนั้น นายเอกรินทร์กล่าวว่า ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการแต่อย่างใด เนื่องจากการกำหนดอัตราค่าบริการของโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระนาวเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ในการกำกับดูแลและกำหนดราคาโดยตรง

อย่างไรก็ตามเคทีและผู้ใช้บริการหลักไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการรายอื่นเกินกว่าอัตราที่กสทช. กำกับและกำหนดได้ ดังนั้นประเด็นราคาค่าบริการโครงข่ายท่อร้อยสายของเคจะแพงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นถึง 3เท่านั้นจึงไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้ประการสำคัญโครงการในครั้งนี้กทม.ลงทุนใหม่ คุ้มค่ากว่าและยังสามารถใช้งานได้ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือ 50 ปี โดยเคทีเลือกใช้เทคโนโลยีไมโครดักเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต ประหยัดพื้นที่ใต้ฟุตบาท และไม่ซ้ำซ้อนกับท่อร้อยสายของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่มีท่อร้อยสายอยู่เดิมในขณะนี้และอยู่ใต้ถนน

นายเอกรินทร์ กล่าวว่า ท่อเดิมของทีโอที และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) มีใช้งานอยู่นั้น กทม.ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวจึงไม่ถือเป็นการผูกขาด โดยกทม.จะวางโครงข่ายท่อร้อยสายใหม่ทั่วกรุงเทพฯซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จเคทีจะเปิดให้ทุกบริษัทสามารถเช่าท่อร้อยสายได้อย่างเสมอภาค ในราคาที่เป็นธรรม ภายใต้การกำหนดราคาของ กสทช. และให้กทม.ได้ร่วมใช้ในกิจการของกทม.โดยไม่คิดค่าบริการอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายของวันนี้ ทางผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม 7 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด และบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) จะยื่นหนังสือต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้พิจารณาให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรายมีโอกาสเข้าถึงบริการท่อร้อยสายสื่อสารของหน่วยงานของรัฐโดยตรง