posttoday

กนอ.ผนึก เอสซีจี ซิเมนต์ พัฒนากระบวนผลิตยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

26 มิถุนายน 2562

กนอ.-เอสซีจี ซิเมนต์ ลงนาม โครงการ อีโค่ เวิลด์ คลาส วิธ เซอร์คูล่า อีโคโนมี คอนเซ็ปต์ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

กนอ.-เอสซีจี ซิเมนต์ ลงนาม โครงการ อีโค่ เวิลด์ คลาส วิธ เซอร์คูล่า อีโคโนมี คอนเซ็ปต์ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. และบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด (SCG) ได้ร่วม ลงนามความร่วมมือเพื่อแสดงเจตจำนงด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และเปิดโครงการ อีโค่ เวิลด์ คลาส วิธ เซอร์คูล่า อีโคโนมี คอนเซ็ปต์ (Eco World Class with Circular Economy Concept)เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากระบวนการผลิต การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ให้ตระหนักถึงปัญหามลพิษจากวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรม (Industrial Waste) พร้อมกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ตลอดจนการบริหารจัดการตามแนวปฏิบัติเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในระยะยาว และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

พร้อมกันนี้ “เอสซีจี ซิเมนต์” ในฐานะองค์กรแห่งนวัตกรรมที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงเดินหน้ายกระดับการบริหารจัดการ บนพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งถือเป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย ดึงเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับ แอช เมลติ้ง (Gasification with Ash Melting) จากประเทศญี่ปุ่นมาใช้กำจัด Industrial Waste เป็นแห่งแรกในอาเซียน โดยสามารถรองรับได้ทั้งชนิดที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายมีการดำเนินงานเป็นแบบระบบปิดและควบคุมทุกขั้นตอนตามกฎหมายกำหนด ตั้งเป้าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกำจัด Industrial Waste ที่ถูกต้อง ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน

ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดกากอุตสาหกรรมและนำกลับไปใช้ใหม่ ตามหลักการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ในพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงในภาคตะวันออกให้มีการบริหารจัดการกากของเสียอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตอย่างยั่งยืน

“ปัจจุบันปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมยังมีการบริหารจัดการยังไม่ถูกวิธี และยังมีกากอุตสาหกรรมอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้นความร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยที่เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งให้มีการบริหารจัดการกากของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตไปสู่การบริหารจัดการที่นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างแท้จริง”น.ส. สมจิณณ์ กล่าว

ทั้งนี้โครงการ“อีโค่ เวิลด์ คลาส วิธ เซอร์คูล่า อีโคโนมี คอนเซ็ปต์”(Eco World Class with Circular Economy Concept)ที่ได้ร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่ กนอ. และบริษัท เอซีจี ซิเมนต์ จำกัด จะร่วมกันปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เพื่อใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำกากอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมฯมาบตาพุดมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนเป็นพลังไฟฟ้า ผ่านการทำงานของโรงกำจัด Industrial Waste และหน่วยผลิตไฟฟ้า บริษัท เอสซีจีฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาในพื้นที่ท่าเรือเฉพาะกิจมาบตาพุด จังหวัดระยอง คาดว่าจะเริ่มเปิดให้ดำเนินการได้ปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมดังกล่าว ถือเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเป็นการกำจัดที่ถูกวิธีตามหลักสากล ตอบโจทย์ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดระยอง ที่ต้องการปฏิบัติการนำกากอุตสาหกรรมไปกำจัดอย่างถูกกฎหมายในอนาคตต่อไป

นายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า เอสซีจี เดินหน้าขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันยังเดินหน้านโยบาย Zero Waste to Landfill โดยไม่กำจัดวัสดุเหลือใช้ด้วยการฝังกลบมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ร่วมกับกนอ. เพื่อแสดงเจตจำนงด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการกำจัด Industrial Waste ตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน

“มาบตาพุด จ.ระยอง ถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้พื้นที่นี้มีปริมาณ Industrial Waste สูง ดังนั้น เอสซีจี ซิเมนต์ ในฐานะผู้ประกอบการรายแรกของไทยที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจด้านการกำจัด Industrial Waste ด้วยเตาเผาปูนซีเมนต์มายาวนานกว่า 20 ปี จึงนำมาพัฒนาต่อยอด ยกระดับการบริหารจัดการ Industrial Waste ซึ่งเราใช้เวลากว่า 3 ปี โดยร่วมกับการนิคมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม และผู้นำชุมชนมาบตาพุด ศึกษาความเป็นได้ในการพัฒนา ‘โรงกำจัด Industrial Waste และหน่วยผลิตไฟฟ้า’ ที่ตรงตามข้อกำหนดกฏหมาย สอดรับกับนโยบายภาครัฐ และแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีมาตรฐานระดับโลก บนพื้นที่ 15 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียนมาใช้ในโรงงานแห่งนี้ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกำจัด Industrial Waste ที่ถูกต้องให้กับผู้ประกอบการในโซนภาคตะวันออก ที่สำคัญไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทั้งนี้จะพร้อมรับกำจัด Industrial Waste จากผู้ประกอบการได้ในปลายปี 2562”

นายศาณิต เกษสุวรรณ Business Stakeholder Engagement Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด กล่าวว่า “โรงกำจัด Industrial Waste และหน่วยผลิตไฟฟ้าแห่งนี้ ดำเนินการก่อสร้างด้วยหลักการบริหารจัดการซัพพลายเชนที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Green Supply Chain) และจะนำเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับแอชเมลติ้ง (Gasification with Ash Melting) ลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท โคเบลโก้ อีโค โซลูชั่น (Kobelco Eco-Solutions) จากประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับมากว่า 15 ปี มาใช้ในการกำจัด Industrial Waste ด้วยกระบวนการเผาไหม้ ซึ่งสามารถรองรับ Industrial Waste ได้หลากหลายประเภทและขนาด ทั้งชนิดอันตรายและไม่เป็นอันตราย

ทั้งนี้กระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะเป็นแบบระบบปิด มีระบบควบคุมมลพิษ และของเสียตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การรับ Industrial Waste จากผู้ประกอบการ การขนส่งไปยังจุดคัดแยกประเภทเพื่อเตรียมกำจัด การเข้าสู่กระบวนการกำจัดด้วยเทคโนโลยีเฉพาะดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเศษวัสดุที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก เถ้าลอย ยังนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนวัสดุเผาไหม้ไม่ได้ (Incombustible) สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนการก่อสร้างถนนได้ ทั้งนี้โรงงานแห่งนี้สามารถกำจัด Industrial Waste ได้ถึง 65,000 ตันต่อปี โดยกระบวนการนี้ทำให้ไม่เหลือ Industrial Waste ที่ต้องกำจัดเพิ่ม นอกจากวัสดุที่เป็นผลพลอยได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน