posttoday

รัฐเปิดจุดเชื่อมเน็ตประชารัฐ 2.47หมื่นหมู่บ้าน กดค่าเน็ตถูกลงอุ้มผู้ใช้

25 มิถุนายน 2562

ครม.ไฟเขียว'ดีอี' เปิดจุดเชื่อมต่อเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน ลดต้นทุนค่าบริการ หวังประชาชนทุกพื้นที่ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่เหมาะสม

ครม.ไฟเขียว'ดีอี' เปิดจุดเชื่อมต่อเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน ลดต้นทุนค่าบริการ หวังประชาชนทุกพื้นที่ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่เหมาะสม

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐที่ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ตามหลักเกณฑ์การให้บริการโครงข่ายเน็ตประชารัฐแบบเปิด (Open Access Network) ตามแนวทางที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นชอบเพื่อให้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปให้บริการปลายทาง (Last Mile Access)ไปยังทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โทร คมนาคมและลดต้นทุนในการคิดอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยราคาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งการคิดค่าอัตราบริการไปยังบ้านเรือนประชาชนจะถูกลง เนื่องจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมไม่ต้องลงทุนในโครงข่ายหลัก

ขณะเดียวกันสนับสนุนให้หน่วยราชการต่างๆเกิดการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐเพื่อต่อยอดการพัฒนาบริการภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ e-Health e-Learning e-Agriculture e-Commerce และ e-Government เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของภาครัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ สามารถสร้างการรับรู้สู่ชุมชน โดยการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร และรับทราบปัญหา อุปสรรค ความต้องการ ผ่านเครือข่ายอาสาสมัครที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล
ข่าวสารได้อย่างถูกต้องตรงตามเป้าประสงค์ของนโยบายรัฐบาลได้อย่างทันเหตุการณ์ รวดเร็ว ในรูปแบบประชารัฐ

สำหรับในส่วนข้อเสนอของดีอีในครั้งนี้ จะเป็นการดำเนินการเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามหลักเกณฑ์โครงข่ายแบบเปิด(Open Access Network) ซึ่งเป็นการเปิดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเข้าเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐ (ซึ่งเป็นทรัพย์สินของราชการ) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนวางโครงข่าย เป็นการลดต้นทุนการคิดอัตราค่าบริการไปยังบ้านเรือนประชาชน ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างในพื้นที่ห่างไกล (เนื่องจากเอกชนไม่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์) มีโอกาสเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เสนอหลักเกณฑ์โครงข่ายแบบเปิด และข้อเสนอการใช้โครงข่าย RAO โดยแบ่งผู้ประกอบการโทรคมนาคม ดังนี้ แบบที่1 ไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง และเป็นกิจการที่มีลักษณะสมควรให้มีการบริการได้โดยเสรี เช่น บริษัท เอส ที ซี เน็ทเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด สามารถเชื่อมต่อจากโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปยังบ้านเรือนประชาชนได้ แบบที่2 มีโครงข่ายและไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์ให้บริการจำกัดเฉพาะบุคคลหรือไม่มีผลกระทบโดยนัยสำคัญต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม หรือต่อประโยชน์สาธารณะและผู้บริโภค ได้แก่ บริษัท สามารถ เทลคอม (SAMTEL) (แบบที่ 2 ไม่มีโครงข่ายฯ) บริษัท ทริปเปิลที โกลบอล เน็ท จำกัด (แบบที่ 2 มีโครงข่ายฯ) ซึ่งกรณีที่ไม่มีโครงข่าย ต้องทำความตกลงกับดีอีในการเปิดโครงข่ายโทรคมนาคม ที่มีอยู่ให้ผู้ประกอบกิจการรายอื่ยน

ส่วนแบบที่ 3 กรณีผู้ประกอบการที่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง เช่น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ต้องทำความตกลงกับดีอี ในการเปิดโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่ให้ผู้ประกอบการรายอื่นเชื่อมต่อโครงข่าย ให้บริการแก่ครัวเรือน เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการแก่บุคคลทั่วไปจำนวนมากหรืออาจมีผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม หรืออาจกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ หรือมีเหตุจำเป็นต้องคุ้มครองผู้บริโภคเป็นพิเศษ เช่น บมจ. ทีโอที บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด

ทั้งนี้ทีโอที ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการเน็ตประชารัฐต้องให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่นเข้าใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐ และให้จัดส่งสำเนาสัญญาการใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐ ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถยื่นความประสงค์ได้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงดีอี