posttoday

ปรับ 5,000 บาท ทันที!! ขนส่งฯเตรียมลงดาบแท็กซี่เมินผู้โดยสาร

24 มิถุนายน 2562

ลุ้นคลอดกฏหมายเพิ่มโทษแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร ปรับทันที 5,000 บาท ยันกฎหมายเก่าเข้มไม่พอ ด้านโลกโซเชี่ยลแห่คอมเมนต์จัดหนักแท็กซี่หลังค้านGrab ถูกกฎหมาย สถิติชี้ชัดร้องเรียนปฏิเสธผู้โดยสารมากสุด

ลุ้นคลอดกฏหมายเพิ่มโทษแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร ปรับทันที 5,000 บาท ยันกฎหมายเก่าเข้มไม่พอ ด้านโลกโซเชี่ยลแห่คอมเมนต์จัดหนักแท็กซี่หลังค้านGrab ถูกกฎหมาย สถิติชี้ชัดร้องเรียนปฏิเสธผู้โดยสารมากสุด

นายธานี สืบฤกษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า กรมขนส่งฯได้การควบรวมกฏหมายเพื่อเพิ่มโทษการแก้ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารแบบถาวร โดยการรวมร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ... 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 รวมเข้าเป็นฉบับเดียวกัน ซึ่งขบ.กำหนดบทลงโทษผู้แท็กซี่ที่กระทำผิดปฏิเสธผู้โดยสารตามกฎหมายที่มากขึ้น โดยจะเพิ่มบทลงโทษจำนวนปรับให้หนักจากโทษเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสาร จะมีบทลงโทษตาม พ.ร.บ.รถยนต์ คือปรับสูงสุด 2,000 บาท แต่กฏหมายใหม่จะเพิ่มโทษบทลงโทษตามกฎหมายขนส่ง พนักงานขับรถโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท และผู้ประกอบการปรับไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อให้เป็นบทลงโทษมาตรฐานเดียวกันกับรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่น เช่น รถทัวร์ และรถตู้ เพราะปัจจุบันรถแท็กซี่มีบทลงโทษต่ำ ทั้งที่เป็นรถสาธารณะเหมือนกัน

อย่างไรก็ตามการควบรวมกฎหมายอยู่ระหว่างเสนอตามขั้นตอนจึงทำให้บทลงโทษที่เหมาะสมยังไม่ได้รับการพิจารณา และยังไม่ได้นำมาใช้

นอกจากนี้ได้พิจารณาพักใช้ใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) 15-30 วัน เข้ารับอบรบมารทยาทด้านการให้บริการไม่ต่ำกว่า 3 ชม. หากกระทำผิดซ้ำซาก จะลงโทษให้หนักขึ้น เช่น พักใช้ใบขับขี่ 3-6 เดือน รวมทั้งพิจารณาเพิกถอนใบขับขี่ หากกระทำผิดรูปแบบมิจฉาชีพ และทำร้ายร่างกาย

สำหรับความคืบหน้าโครงการแท็กซี่โอเคปัจจุบันมีรถแท็กซี่โอเคให้บริการแล้วประมาณ 18,511 คันทั่วประเทศ ขณะเดียวกันได้เน้นยกระดับการให้บริการเรื่องปฏิเสธผู้โดยสาร โดยกำกับระบบแอพพลิเคชั่นคุณภาพการให้บริการรถแท็กซี่ รวมทั้งพิจารณาเสนออัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรมกับกลุ่มรถแท็กซี่และผู้โดยสารขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลด้วย

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สถิติการร้องเรียนรถแท็กซี่ผ่านทางสายด่วน 1584 ของกรมการขนส่งทางบก ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2560-30 กันยายน 2561 มีเรื่องร้องเรียนถึง 48,223 เรื่อง ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเรื่องร้องเรียน 5 อันดับแรก คือ การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร เป็นข้อร้องเรียนเข้ามามากที่สุด รองลงมาคือ แสดงกิริยาไม่สุภาพ, ขับรถประมาทหวาดเสียว, ไม่กดมิเตอร์ และไม่ส่งผู้โดยสารตามที่ตกลง ซึ่งในประเด็นทั้งหลายเหล่านี้ กรมการขนส่งทางบกจะนำไปประกอบการพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่ให้กับแท็กซี่ในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ภายหลังจากมีกระแสข่าวกลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ยื่นหนังสือต่อกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)เพื่อคัดค้านการผลักดันแอพพลิเคชั่นบริการขนส่งสาธารณะ หรือ Grab ให้ถูกกฎหมายในประเทศไทยนั้น เกิดเสียงต่อว่าจากสังคมออนไลน์จำนวนมาก ส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ถึงการปฏิเสธผู้โดยสารที่พบเห็นกันอยู่เป็นประจำ รวมถึงเรื่องของการคิดค่าโดยสารที่มีราคาแพงเกินจริง เช่น ค่าแท็กซี่ระหว่างเมืองไปยังสนามบินมีราคาสูงถึง 2,000-4,000 บาท การไม่กดมิเตอร์หรือคิดราคาแบบเหมา การหลอกลวงนักท่องเที่ยวและเรื่องการดัดแปลงมิเตอร์เทอร์โบ เป็นต้น ตลอดจนเรื่องของความสะดวกสบายที่ Grab สามารถตอบโจทย์คนเมืองได้ดีกว่าแท็กซี่ทั่วไป