posttoday

ส่องเศรษฐกิจออนไลน์ ตอน : อาเซียนเศรษฐกิจทรุด...แสดงจุดยืนขอให้ยุติเทรดวอร์

24 มิถุนายน 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนหรือ “Asean Summit” ซึ่งไทยเป็นประธานและเป็นเจ้าภาพได้จบไปแล้ว การจับไม้จับมือของผู้นำแสดงถึงความกลมเกลียวแต่ไส้ในของแต่ละประเทศคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การประชุมให้น้ำหนักสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งออกมาในทิศทางที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับเศรษฐกิจของภูมิภาค ประเด็นหลักมาจากมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งควรเป็นการเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อย่างมีเหตุมีผล กลับเป็นการใช้ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคุณทรัมป์ กับ สี จิ้นผิง ซึ่งลุกลามกลายเป็นปัญหาการค้าและการเมืองระหว่างประเทศทับซ้อนกันอยู่ ทำให้การเจรจาในรอบต่างๆยากที่จะตกลงกันได้กระทบต่อประเทศต่างๆในโลก โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งค้าขายกับจีนและสหรัฐในสัดส่วนที่สูง

การประชุมอาเซียนซัมมิทที่ผ่านมา ยังมีการผลักดันความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ อาร์เซ็ป ซึ่งกว่าจะจบคงต้องมีการเจรจากันอีกหลายเวทีเพราะยังมีผลประโยชน์ขัดแย้งในกลุ่มสมาชิกรวมถึงแรงกดดันทั้งประเทศจีนและอินเดีย แต่ข้อเสนอสำคัญของอาเซียนเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนที่ยืดเยื้อทำให้ประเทศต่างๆในอาเซียนที่ค้าขายกับสหรัฐและจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 25-30 แต่ละประเทศล้วนบอบช้ำจากความขัดแย้งของยักษ์ใหญ่ มีความพยายามที่จะผลักดันให้อาเซียนเสนอตัวเป็นคนกลางยุติความขัดแย้งของทั้งสองประเทศแต่คงเป็นแค่วาทกรรมเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

เป็นการส่งสัญญาณให้ทั้งสองประเทศอภิมหาอำนาจเจรจาให้จบในการประชุมจี-20 ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่เมืองโอซาก้าประเทศญี่ปุ่น แต่ที่หวังจะจบเกมส์ง่ายๆคงไม่ใช่เพราะเดินมาถึงขนาดนี้ต่างฝ่ายคงต้องได้อะไรติดมือไปบอกประชาชนของตน เพราะอย่างที่กล่าวประเด็นเทรดวอร์กลายเป็นทั้งการเมืองในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศไปแล้ว ทั้งจีนและสหรัฐต่างฝ่ายพยายามดึงประเทศอาเซียนเข้ามาเป็นพวกตรงนี้ท่าทีของไทยต้องรับลูกให้เป็นเอียงเข้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้เจ็บตัวแน่นอน

อาเซียนมีความสำคัญกับประเทศไทยค่อนข้างสูงเพราะเราส่งออกแต่ละปีมูลค่าประมาณ 2.2 ล้านล้านบาทสัดส่วนเท่ากับ 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งหมด ประเทศหลักที่ไทยส่งออกไปอาเซียน ได้แก่ เวียดนามสัดส่วนร้อยละ 17, มาเลเซียร้อยละ 13.9, อินโดนีเซียร้อยละ 11.6 และสิงคโปร์ร้อยละ 9.86

ผลจากวิกฤตการค้าโลกทำให้ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมการส่งออกไปประเทศต่างๆหดตัวร้อยละ -2.7 ขณะที่การส่งออกไปอาเซียนติดลบร้อยละ -4.63 จากที่เคยขยายตัวในปีที่แล้วร้อยละ 14.74 หากส่องกล้องดูแต่ละประเทศในอาเซียนล้วนตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันจึงเป็นที่มาของท่าทีให้สองยักษ์ใหญ่ยุติความขัดแย้ง

ย้อนกลับมาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาท้าตีท้าต่อยหาเรื่องกับประเทศต่างๆ เล่นงานจีนจนกลายเป็นวิกฤตการค้าโลก ทำเนียบขาวมีความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายในซึ่งเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวโดยกดดันในธนาคารกลางลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอัตราร้อยละ 0.25 เป็นการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ (QE:Quantitative Easing)เพื่อดันให้เอกชนมีต้นทุนต่ำและเป็นการเร่งการลงทุนรวมถึงกระตุ้นการใช้จ่ายจนกลายเป็นข้อพิพาทกับประธานธนาคารกลางหรือเฟดที่ต้องการลดดอกเบี้ยแบบค่อยทีค่อยไป เป็นการส่งสัญญาณท่าทีของรัญบาลสหรัฐในการใช้นโยบายเป้าหมายดอกเบี้ยต่ำหรือ “Fed Dot Plot”

ผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนมีเงินนอกไหลเข้าประเทศถึง 4.4 หมื่นล้านบาทเพื่อเข้ามาทำกำไรจากดอกเบี้ยของไทยที่สูงกว่าสหรัฐ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนตลาดออฟชอร์แข็งค่านำโด่งประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคไปอยู่ที่อัตรา 30.870 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ผู้ส่งออกโวยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งกว่าประเทศคู่แข่ง แต่เหรียญมีสองด้านเสมอเพราะสินค้านำเข้าที่เป็นพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆได้รับอานิสงค์ราคานำเข้าในรูปเงินบาทจะถูกลงประมาณร้อยละ 2-3

คำถามไทยได้อะไรจากการประชุมอาเซียนซัมมิท คำตอบคือได้จัดประชุมเป็นการแก้ตัวหลังจากที่ปีพ.ศ.2552 ประชุมที่พัทยาพังไม่เป็นท่าเพราะถูกกลุ่มเสื้อแดงบุกเข้าไปล้มการประชุมจนผู้นำแต่ละประเทศเผ่นหนีแทบไม่ทันเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ผ่านมา 10 ปีประเทศไทยเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ไม่มีการประท้วงข้างถนนตรงนี้บอกไม่ได้ว่าพวกผู้นำอาเซียนเขาคิดอย่างไร แต่คำถามที่ทั้งต่างชาติและคนไทย ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเป็นประธานอาเซียนในสถานะผู้นำรัฐบาลคสช.หรือรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องมาถกเถียงกันเพราะหลังจากตรวจละเอียดยิบถึงคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ต้องเจ๋งจริงๆ ที่สุดต้องมีรัฐบาลแต่เป็นครม.ปริ่มน้ำซึ่งถูกปรามาสว่าคงอยู่ได้ไม่นาน

หวังว่าบิ๊กตู่คงมียุทธวิธีที่จะประคับประคองให้รัฐบาล 19 พรรคให้มีเสถียรภาพเป็นความท้าทายอย่างยิ่งเกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่ออกมาไม่ค่อยจะสู่ดี นอกจากต้องรับมือปัญหาเศรษฐกิจรอบด้านยังต้องรับมือการเมืองที่ไม่นิ่งทั้งจากในสภาและในบ้านตัวเอง แต่ที่แน่ๆประชุมอาเซียนซัมมิทจบไปด้วยดีไม่อายเขาและไม่มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอย....โล่งใจทั้งบิ๊กตู่และคนไทยครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)