posttoday

โจทย์และความท้าทายที่รัฐบาลใหม่จะต้องเผชิญ

10 มิถุนายน 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ถึงจะผ่านมาหลายวันคงไม่สายไปที่จะขอแสดงความยินดีกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่สามารถ ฝ่าฟันกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย การคืนสังเวียนรอบสองไม่ได้มาตามดวงที่โหรทั้งหลายพยากรณ์กันไว้ แต่มาจากฝีมือล้วนๆที่เขียนเป็นโรดแมปสอดคล้องกับการออกแบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งฟิตเฉพาะตัวบิ๊กตู่ไม่ว่าจะเป็นใครจะได้ส.ส.ท่วมท้นเท่าใดก็เป็นไม่ได้เพราะมีส.ว.ที่เลือกเฟ้นมากับมือไม่มีใครแตกแถว การเป็นหัวหน้ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ฯภายใต้ระบอบประชาธิปไตยคงไม่ง่ายอย่างที่คาดหวัง

ก่อนหน้าวันโหวตเผชิญกับการต่อรองของพรรคร่วมแบบเหลือตัวล่อนจ้อน ในรัฐสภาไม่ทราบว่าเป็นวันโหวตเลือกนายกหรือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเพราะส.ส.ฝ่ายตรงข้ามดาหน้าออกมาอัดแบบไม่เกรงใจ หากตัดเสียงส.ว.ออกไปจำนวนเสียงปริ่มน้ำชนะเฉียดฉิวไม่เกิน 5-6 เสียง สัปดาห์นี้คงลงเห็นรายชื่อครม. แต่จะเป็นไปตามโผหรือข้อตกลงที่ทำไว้ก่อนเป็นอีกเรื่องเพราะพปชร.ส่งสัญญาณอาจล้มดีลอ้างว่าที่คุยไปก่อนหน้านี้ยังไม่จบแต่หากมีการเบี้ยวฉากต่อไปสนุกแน่

หากถามว่าโจทย์และความท้าทายของรัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะต้องเผชิญหนักหนาแค่ไหน ตอบโดยไม่ต้องคิดคือเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลและประเด็นเศรษฐกิจเกี่ยวกับปากท้องชาวบ้านเหตุเพราะเศรษฐกิจจริงแย่กว่าที่คาด ผู้ที่ทำธุรกิจหรือค้าขายคงเห็นตรงกันว่าการทำมาหากินในช่วงนี้ถือว่าหนักที่สุดในรอบ 5 ปียกเว้นเจ้าสัวรายใหญ่ที่รวยเอารวยเอา เศรษฐกิจที่บอกว่าไม่ดีสะท้อนจากดัชนีที่เชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมปรับตัวลดต่ำสุดในรอบปีครึ่งทำให้กำลังซื้อของประชาชนหายไป

ล่าสุดมีการปรับตัวเลขการเติบโตการบริโภคภายในประเทศจากร้อยละ 4.6 เหลือร้อยละ 3.6 เป็นผลจากธุรกิจต่างๆ ฝืดเคืองกำลังการผลิตอุตสาหกรรมทำท่าขยับแต่ก็กลับมาอยู่ที่สถานะเดิมการจ้างงานยังไม่มากและค่าล่วงเวลาทำงานยังไม่กลับมา ขณะที่ครัวเรือนเกษตรกรกำลังย่ำแย่จากรายได้ที่ลดลงสะท้อนจากจีดีพีภาคเกษตรหดตัวเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

เศรษฐกิจไทยมีความซับซ้อนในการแก้ปัญหาเพราะเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยภายนอกแต่มีผลต่อประเทศไทย แนวโน้มเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวจากสภาวะความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนและรวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นๆนำไปสู่วิกฤตสงครามการค้าโลกที่ดูท่าทีจะหนักและนานกว่าเดิมส่งผลต่อการค้าและเงินตึงตัวไปทั้งโลก ล่าสุดธนาคารโลกปรับตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลดจากร้อยละ 2.9 เหลือร้อยละ 2.6 เป็นระดับที่ต่ำสุดนับแต่วิกฤตการเงินโลก

สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจโลกจากร้อยละ 3.5 เหลือร้อยละ 3.3 และอาจถูกปรับลดลงอีกหากความตึงเครียดของสงครามการค้ายังทวีความรุนแรง ซึ่งแน่นอนว่ากระทบกับประเทศไทยโดยตรงเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกเชิงเหรียญสหรัฐช่วง 4 เดือนแรกถดถอยติดลบร้อยละ 1.86 อุตสาหกรรมส่งออกส่วนใหญ่ล้วนหดตัวรวมไปถึงสินค้าเกษตรทั้งข้าว ยางพารา แป้งมันสำปะหลังตัวเลขส่งออกเฉลี่ยหดตัวร้อยละ 12.3

ผลกระทบข้างเคียงเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและผู้ให้บริการที่อยู่ในโซ่อุปทานการส่งออกซึ่งนอกจากตัวเลขขายจะลดลงยังมีผลต่อการชำระเงินที่ล่าช้าส่งผลต่อการตึงตัวของเงินหมุนเวียนที่ลดหายไปซึ่งไปกระทบต่อกำลังการซื้อของประชาชนเป็นลักษณะงูกินหาง เป็นโจทย์ท้าทายทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เข้ามาใหม่ ประเด็นที่กังวลคือการเป็นเอกภาพของทีมงานเศรษฐกิจซึ่งก็เป็นปัญหาในตัวเองเพราะมาจากการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลทำให้กระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญต่างกระจายไปอยู่ในหลายพรรคภายใต้ไพ่ในมือที่ไม่มีตัวเล่นคงไม่มีใครฟังใครซึ่งจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงบูรณาการ แต่อาจเร็วไปที่จะด่วนสรุปเช่นนี้เพราะทหารเก่าอย่างบิ๊กตู่อาจมีไม้เด็ดอะไรไว้แก้สถานการณ์ที่เป็นรองก็เป็นไปได้

อีกประเด็นซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะเข้ามาแก้ปัญหาคือความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติรวมถึงประชาชน เหตุเพราะเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพของรัฐบาลว่าจะอยู่อย่างไรและจะอยู่ได้นานแค่ไหน ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอยถึงแม้ตัวเลขการขอส่งเสริมผ่านบีโอไอจะยังเข้ามาแต่เม็ดเงินจริงอาจต้องรอระยะเวลาที่ชัดเจน ผลคือตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนซึ่งเดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 แต่ภาคเอกชนมีการปรับเหลือร้อยละ 3.6 ปัจจัยการเมืองในประเทศและเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นประเด็นสำคัญและเป็นความท้าทายของการแก้ปัญหา

ปัญหาเศรษฐกิจไทยหมักหมมมาหลายปีแต่ถูกกลบไว้จากตัวเลขจีดีพีที่ยังขยายตัวจากการลงทุนเมกะโปรเจคขนาดใหญ่ของรัฐบาลซึ่งทำให้เงินกระจุกตัวไม่ลงมาข้างล่าง ขณะเดียวกันโครงการประชานิยมในรูปแบบต่างๆถึงแม้เงินจะถึงประชาชนในลักษณะการให้เปล่าแต่ไม่ได้ช่วยในการสร้างให้ประชาชนกลุ่มด้อยโอกาสสามารถสร้างรายได้ เม็ดเงินที่ใส่เข้าไปก็ถูกดูดกลับเข้าไปในระบบค้าปลีกที่ถูกผูกขาดเพียงไม่กี่ตระกูลทำให้เงินไม่หมุนเวียน ปัญหาเหล่านี้เป็นเชิงโครงสร้างเพราะไทยปล่อยปะละเลยจนไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไรซึ่งจะเป็นกับดักความเหลื่อมล้ำและปัญหาของชาติในอนาคต

ผลของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวสะท้อนได้จากหนี้ครัวเรือนกว่า 12.8 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จุดสูงสุดในรอบหลายปีขณะที่ภาคธุรกิจหนี้เสียของสถาบันการเงินหรือ NPL ของกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง คาดว่าตัวเลขในไตรมาส 2 จะขยายตัวสูงสุดในรอบหลายปี ที่กล่าวมาทั้งหมดที่เป็นแค่บางส่วนของปัญหาที่ลอยพ้นน้ำ (Iceberg Theory) แต่ข้างใต้ยังมีปัญหาอีกมากมายที่จะปะทุออกเป็นโจทย์รอพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะนายกรัฐมนตรีที่อาสาเข้ามาแก้ปัญหาแต่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆที่ต่างไปจากการมีอำนาจเบ็ดเสร็จ การแก้ปัญหาจึงเป็นความท้าทายทั้งของรัฐบาลและของประเทศ
(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)