posttoday

ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง ดันที่ดินภูเก็ตพุ่งไร่ละ300ล้าน

27 พฤษภาคม 2562

ค่าเวนคืนที่ดินภูเก็ตพุ่งไร่ละ 300 ล้านบาท หลังโครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตองอืด หวั่นต้องขยายวงเงินค่าเวนคืน เหตุราคาที่ดินลอยตัวตามตลาด ท้องถิ่นเชื่อสัมปทาน 30 ปีไม่พอ เผยบิ๊กทุนเอเซียสนลงทุนโปรเจ็กส์

ค่าเวนคืนที่ดินภูเก็ตพุ่งไร่ละ 300 ล้านบาท หลังโครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตองอืด หวั่นต้องขยายวงเงินค่าเวนคืน เหตุราคาที่ดินลอยตัวตามตลาด ท้องถิ่นเชื่อสัมปทาน 30 ปีไม่พอ เผยบิ๊กทุนเอเซียสนลงทุนโปรเจ็กส์

น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า โครงการทางพิเศษกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน1.4 หมื่นล้านบาท ยังมีปัญหาสำคัญเรื่องการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพราะมูลค่าการเวนคืนที่ดินและสิ่งก่อสร้างอาจมีการเปลี่ยนแปลงเพราะโครงการล่าช้ามานาน อีกทั้งยังไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ซึ่งราคาที่ดินในพื้นที่ก็ไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะบริเวณจุดขึ้น-ลงทางด่วนฝั่งป่าตองจากเดิมที่มีราคาไร่ละ 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 300 ล้านบาทแล้ว ดังนั้นการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ต้องเร่งสรุปตัวเลขมูลค่าการเวนคืนที่ดินเสนอรัฐบาลเพื่อออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินให้เร็วที่สุด เพื่อควบคุมกรอบวงเงินค่าจัดกรรมสิทธ์พื้นที่ให้จบ

อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้รับรายงานว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ยังไม่สามารถเจราจาค่ากรรมสิทธิ์ที่ดินกับประชาชนที่อยู่อาศัยในบางแปลงได้ อาทิ พื้นที่สาธารณะ พื้นที่เอกชนและพื้นที่ผู้อยู่อาศัย

ทั้งนี้โครงการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งก่อสร้าง วงเงินประมาณ 5,600 ล้านบาท และการก่อสร้างอุโมงค์ วงเงิน 8,000-9,000 ล้านบาท ซึ่งทางรัฐบาลเห็นด้วยที่จะดำเนินการในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี) โดยบริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการดำเนินการเจรจากับเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุน เบื้องต้นกำหนดกรอบเวลาคืนทุนภายใน 30 ปี โดยส่วนตัวเห็นว่าหากยังไม่คืนทุน และภาครัฐจริงใจที่จะดำเนินการก็ควรจะขยายกรอบเวลาคืนทุนเป็น 40-50 ปี ทั้งนี้ทราบว่าล่าสุดทราบว่าผลการเจรจากรอบเวลาคืนทุนอยู่ที่ 35 ปี ซึ่งคิดว่าเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนไม่น่าจะมีปัญหา โดยเอกชนที่สนใจมีทั้ง จีนญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) แจ้งว่า ล่าสุดกทพ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกรรมสิทธิ์ที่ดินลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ไปหารือร่วมกับท้องถิ่น เรื่องการขอใช้พื้นที่สาธารณะ ซึ่งท้องถิ่นก็ยินดีเพราะการก่อสร้างโครงการทางพิเศษจะเป็นประโยชน์กับจังหวัดอย่างมาก เนื่องจากช่วยระบายการจราจรที่หนาแน่นและติดขัดในปัจจุบันให้เบาบางลงได้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการอยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเรื่องนี้ท้องถิ่นต้องพิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหา โดยให้กระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่น้อยที่สุด และแจ้งให้กทพ.ทราบเพื่อจะได้สรุปเรื่องการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทั้งจำนวนเนื้อที่และมูลค่าทั้งหมด เพื่อสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมโดยเร็วที่สุด ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา เพื่อให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี2563 และเปิดให้ใช้งานได้ในปี2567