posttoday

สมอ.โต้กลับ เหตุยึด“ปลั๊กพ่วง”ห้างฯ ในย่านบางแคยันเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานจริง!!!

21 พฤษภาคม 2562

สมอ. แจงตรวจห้างฯ ย่านบางแคให้บริการเช่าพื้นที่ขายสินค้า พบ“ปลั้กพ่วง” ไม่ได้มาตรฐานจากร้านค้าเช่าจำนวนมาก หลังมีเจ้าของสินค้าร่อนหนังสือถึงสื่อมวลชนขอแก้ข่าว

สมอ. แจงตรวจห้างฯ ย่านบางแคให้บริการเช่าพื้นที่ขายสินค้า พบ“ปลั้กพ่วง” ไม่ได้มาตรฐานจากร้านค้าเช่าจำนวนมาก หลังมีเจ้าของสินค้าร่อนหนังสือถึงสื่อมวลชนขอแก้ข่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังแถลงข่าวกรณี สมอ. เข้าตรวจสอบร้านจำหน่ายภายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านบางแค พบสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะ “ปลั๊กพ่วง” จำนวนมาก จึงดำเนินการยึดอายัดผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งมีสื่อมวลชนได้เผยแพร่ข่าวอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นมีผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของสินค้าทำหนังสือชี้แจงถึงสื่อมวลชนเพื่อให้แก้ข่าวดังกล่าว สมอ. จึงขอเรียนยืนยันว่า การนำเสนอข้อมูลในข่าวของสื่อมวลชนนั้นถูกต้องแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ที่ สมอ. ยึดอายัดในวันดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้

มาตรฐานภายใต้เครื่องหมายการค้า TOSHINO และ ANITECH ซึ่งมีความผิดดังนี้ 1. ปลั๊กพ่วง ยี่ห้อ TOSHINO ที่ยึดอายัดมามีทั้งหมด 4 รุ่น คือ รุ่น S9P525NV รุ่น FO6S-1.8M รุ่น FW3-3M และรุ่น FO6S-3M ทั้ง 4 รุ่น เป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยรุ่น S9P525NV และรุ่น FO6S-3M นำเข้ามาก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ สำหรับรุ่น FO6S-1.8M และรุ่น FW3-3M เป็นการนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ส่วนจะใช้สิทธิ์อ้างว่าทำก่อนกฎหมายบังคับใช้ต้องตรวจสอบและพิสูจน์กันต่อไป

2.ปลั๊กพ่วง ยี่ห้อ ANITECH รุ่น H622 ที่ สมอ.ได้ยึดอายัดในวันดังกล่าว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังได้ยึดอายัดมาจากห้างสรรพสินค้าอีกหลายแห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นต้นมา กว่า 2,000 ชิ้น นั้น เป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนจะใช้สิทธิ์อ้างว่าทำก่อนกฎหมายบังคับใช้ต้องตรวจสอบและพิสูจน์กันต่อไป

นายวันชัย กล่าวว่า สมอ. กำหนดให้ปลั๊กพ่วงต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน : ชุดสายพ่วง มาตรฐานเลขที่ มอก.2432-2555 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นมา ซึ่งผู้ทำ ผู้นำเข้า จะต้องขออนุญาตทำและนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก่อน ขณะเดียวกันผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย มอก. เท่านั้น โดย สมอ. ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง ให้ทราบถึงข้อกำหนด มอก.2432-2555 รายละเอียดของผลิตภัณฑ์ การบังคับใช้มาตรฐาน การขอรับใบอนุญาต การมีไว้เพื่อจำหน่าย และการดำเนินการกับผลิตภัณฑ์ที่มีไว้ก่อนการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นมา รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตทำและนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 33 ราย แบ่งเป็นผู้ทำจำนวน 17 ราย และนำเข้าจำนวน 16 ราย สามารถดูรายชื่อได้ที่ www.tisi.go.th โดยเข้าสืบค้นข้อมูลที่เมนู คู่มือผู้ซื้อ สำหรับบทลงโทษในกรณีทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแสดงเครื่องหมาย มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“สาเหตุหนึ่งของไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ ส่วนใหญ่มาจากชุดสายพ่วงที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำมาจากวัสดุที่มีคุณภาพต่ำ เช่น ชิ้นส่วนโลหะที่เป็นจุดสัมผัสของปลั๊กเสียบทำจากทองเหลืองที่บางมาก เมื่อกระแสไฟฟ้าเดินไม่สะดวก เกิดความร้อนสูงทำให้เกิดการลุกไหม้ ดังนั้น การใช้ชุดสายพ่วงที่ได้มาตรฐานมีเครื่องหมาย มอก. รับรอง ผู้บริโภคจะมั่นใจได้ในความปลอดภัย เพราะผ่านการตรวจสอบรับรองจาก สมอ.แล้ว” นายวันชัยกล่าว