posttoday

แอร์บัสกังวลดีลหมื่นล้านพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานฯอู่ตะเภา

17 พฤษภาคม 2562

แอร์บัสกังวลดีลหมื่นล้านโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน อู่ตะเภา "บินไทย"เผยเจรจายังไม่ลงตัว เดินหน้าแผนจัดหาเครื่องใหม่เล็งทำสัญญาเช่าอย่างน้อย 6 ปี

แอร์บัสกังวลดีลหมื่นล้านโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน อู่ตะเภา "บินไทย"เผยเจรจายังไม่ลงตัว เดินหน้าแผนจัดหาเครื่องใหม่เล็งทำสัญญาเช่าอย่างน้อย 6 ปี

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่าความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน (MRO) วงเงิน 1.12 หมื่นล้านบาท นั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้มีกรอบกำหนดให้แอร์บัสยื่นข้อเสนอในการร่วมทุน MRO กับการบินไทยเป็นเวลา 1 เดือน หรือภายในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ซึ่งการบินไทยและแอร์บัสได้มีการหารือร่วมกันจนได้ข้อสรุปในระดับหนึ่งแล้ว จึงคาดว่าจะพร้อมยื่นข้อเสนอให้ EEC ตามระยะเวลาที่กำหนด แม้ว่าการบินไทยและแอร์บัสยังมีข้อกังวลที่ตกลงกันไม่ได้หลายประเด็น ทางแอร์บัสจึงเตรียมจะนำประเด็นต่างๆ ใส่แนบท้ายข้อเสนอการร่วมทุนเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเปิดการเจรจากันต่อในภายหลัง โดยประเด็นยังเป็นข้อกังวลเช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย การบริหารต้นทุนเพื่อขอรับเทคโนโลยี การค้า และการบริหารจัดการ และหลังจากที่มีการยื่นข้อเสนอการร่วมทุนแล้วก็จะมีการเจรจาต่อเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆต่อไป ซึ่งการลงทุน MRO ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่ต้องกำหนดกรอบเวลาในการเจรจา เนื่องจากกองทัพเรือก็อยู่ระหว่างของบประมาณในการลงทุนโรงซ่อมอากาศยาน (Hangar) และหากได้ข้อสรุปแล้วก็ลงนามในสัญญาต่อไป

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนการจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.56 แสนล้านบาทนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอเรื่องให้ทางกระทรวงคมนาคมพิจารณา โดยทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว ส่วนเรื่องการเช่าเครื่องบินใหม่เพิ่มประมาณ 2-4 ลำ เพื่อนำมาใช้ให้บริการนั้นขณะนี้ก็อยู่ระหว่างให้ผู้เกี่ยวข้องไปเร่งศึกษา ซึ่งหากศึกษาแล้วเสร็จจะเร่งสรุปเพื่อเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม มองว่าในการเช่าเครื่องบินนั้นจะต้องสามารถทำการบินให้บริการได้เบื้องต้น 6 ปี จึงจะคุ้มค่าต่อการลงทุน

นอกจากนี้ในส่วนของแผนเปิดการบินใหม่เส้นทางกรุงเทพ-เซนได ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอให้คณะกรรมการฯพิจารณา แต่เชื่อว่าจะได้รับการพิจารณาเห็นชอบเนื่องจากได้มีการรายงานเรื่องเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการให้ทราบเป็นระยะ ส่วนการลงนามในสัญญานั้นพยายามลงนามให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะเปิดงบและทำตารางการบินให้ชัดเจนโดยเที่ยวแรกจะเปิดให้บริการในช่วงวันที่ 27 ต.ค.นี้