posttoday

ลุ้นสภาพัฒน์ฯเคาะแบบเทอร์มินอล2ใหม่ สร้างเชื่อมรถไฟฟ้า-สะพานกระเป๋าเข้าอาคารหลัก

13 พฤษภาคม 2562

ทอท.เตรียมเสนอสภาพัฒน์ฯ พิจารณาแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ใหม่ หลังล้มประมูลครั้งก่อน ไม่หวั่นหากถูกชะลอออกไปอีก มั่นใจยังรองรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคนต่อปี

ทอท.เตรียมเสนอสภาพัฒน์ฯ พิจารณาแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ใหม่ หลังล้มประมูลครั้งก่อน ไม่หวั่นหากถูกชะลอออกไปอีก มั่นใจยังรองรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคนต่อปี

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึง ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (เทอร์มินอล 2) วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ล้มประมูลงานออกแบบของกลุ่มดวงฤทธิ์ ขณะนี้สภาที่ปรึกษาสนามบิน (Airport Consultants Council: ACC)ซึ่งมาจากผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนได้ตัดสินใจกำหนดแบบให้เชื่อมกับอาคารผู้โดยสารในปัจจุบัน (เทอร์มินอล 1) ซึ่งจะมีระบบสายพานสัมภาระและระบบขนรถไฟฟ้าส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ(APM)เชื่อมระหว่างทั้งสองอาคาร ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่กำหนดให้ เทอร์มินอล 2 เป็นการออกแบบลักษณะอาคารเดี่ยว (Stand Alone)

ทั้งนี้ล่าสุดทอท.ได้รายงานกระทรวงคมนาคมเพื่อขอเดินหน้าโครงการต่อ และเตรียมเสนอโครงการไปยัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ภายในเร็วๆนี้ พร้อมชี้แจงความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อเพิ่มคุณภาพบริการในสนามบินควบคู่ไปกับการรองรับตลาดท่องเที่ยวไทย

นายนิตินัย กล่าวว่า หากสุดท้ายแล้วสภาพัฒน์ฯยังคงยืนยันคัดค้านการก่อสร้าง หรือสั่งชะลอโครงการต่อไป ทอท.ก็ต้องยอมรับสภาพ ส่วนคำถามที่ว่าหากไม่มีอาคารใหม่ จะทำให้ผู้โดยสารล้นสนามบินหรือไม่ เพราะในเวลานี้เกินขีดรองรับไปแล้ว 15 ล้านคน/ปี โดยยืนยันว่าสนามบินสุวรรณภูมิยังสามารถรองรับผู้โดยสารได้ แม้จะมีขีดจำกัดรองรับ ส่วนข่าวที่เผยแพร่ออกไปว่ารองรับผู้โดยสารได้ปีละ 45 ล้านคนนั้นเป็นเพียงพื้นที่ฝั่ง Landside ส่วนฝั่ง Airside ของอาคารผู้โดยสารในความเป็นจริงแล้วปัจจุบันนั้นรองรับได้ถึง 90 ล้านคน ถือว่ายังมีอัพไซด์อีกมากเมื่อดูจากปริมาณผู้โดยสาร 60 ล้านคน/ปี ในตอนนี้

ดังนั้นในอนาคตหากไม่มีเทอร์มินอล 2 บริเวณเคาน์เตอร์เช็คอินและห้องโถงจะหนาแน่นมาก แต่พอหลุดเข้าไปฝั่ง Airside ความแออัดก็จะดีขึ้น อีกทั้งยังมีโครงการอาคารที่ทยอยจะแล้วเสร็จได้แก่ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1)และการขยายอาคารฝั่งทิศตะวันตก (West-wing) ซึ่งเตรียมเปิดใช้ปี 2563-2564 รองรับมากกว่า 15 ล้านคนต่อปี

"ทุกวันนี้สนามบินสุวรรณภูมิต้องเร่งพัฒนาเพื่อรับผู้โดยสาร ดังนั้นจึงต้องฟังเสียงคนใช้และผู้ประกอบการในสนามบิน มิใช่เอาเสียงคนนอกมาตัดสิน ทุกวันนี้แน่นจะตายกันอยู่แล้ว ไม่อยากให้คุณภาพบริการแย่ลงไปอีกเพราะมีผลต่อการจัดอันดับสนามบินทั่วโลก" นายนิตินัยกล่าว

นายนิตินัย กล่าวว่า หากสภาพัฒน์ มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการแล้ว ทอท.จะเดินหน้าตั้งงบประมาณปี 2563 ในการจ้างเอกชนออกแบบโครงการ ซึ่งกว่าจะผ่านตามขั้นตอนไปจนถึงเปิดประมูลอาจใช้เวลานานมาก จนต้องลุ้นว่าจะได้ผู้ชนะประมูลในปีนี้หรือไม่ โดยทอท.เตรียมแผนร่างแบบอาคารดังกล่าวบางส่วนเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เช่น ทอท.ออกแบบงานฐานรากและจ้างออกแบบเฉพาะอาคารรวมถึงงานบนดิน เนื่องจากเดิมกำหนดเปิดใช้อาคารดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาความแออัดในช่วงปี 2565-2566 พร้อมกับโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ต้องรอคำตอบจากสภาพัฒน์ก่อนกำหนดทิศทางการพัฒนาสนามบินสุวนรณภูมิต่อไป