posttoday

เร่งเครื่อง 4 บิ๊กโปรเจ็ค บูมลงทุนอีอีซี6.5แสนล้าน ดันจีดีพีโต1%

23 เมษายน 2562

บอร์ดอีอีซี เดินหน้า 4 โครงการลงทุน คาดลงนามแล้วเสร็จเดือนพ.ค. นี้ เชื่อเม็ดเงินทยอยเข้าระบบเศรษฐกิจช่วง5 ปี ย้ำรอบคอบการทำสัญญาไม่ซ้ำรอยค่าโง่โฮปเวลล์

บอร์ดอีอีซี เดินหน้า 4 โครงการลงทุน คาดลงนามแล้วเสร็จเดือนพ.ค. นี้ เชื่อเม็ดเงินทยอยเข้าระบบเศรษฐกิจช่วง5 ปี ย้ำรอบคอบการทำสัญญาไม่ซ้ำรอยค่าโง่โฮปเวลล์

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี)ครั้งที่ 3/2562 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ได้รับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงาน 4 โครงการ มีมูลค่าลงทุน 6.5 แสนล้านบาท โดยเม็ดเงินจะเริ่มทยอยเข้าเระบบศรษฐกิจระยะ5ปี และมีผลต่ออัตราการเติบโตเศรษฐกิจประเทศ(จีดีพี) 0.8-1% ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากภาครัฐ 2 แสนล้านบาท และที่เหลือจะเป็นเงินลงทุนจากภาคเอกชน โดยยืนยันการทำสัญญาโครงการจะไม่ให้เกิดซ้ำรอยกับกรณีโฮปเวล์ เพราะมีการหารือทำสัญญารอบคอบ ก่อนลงนามทางอัยการสูงสุดจะตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน

สำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่สำคัญ คือ1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้ประกาศเชิญชวนการลงทุนร่วม ระหว่างเดือน มี.ค.–เม.ย. 2561 โดยเบื้องต้นมีเอกชนซื้อเอกสารประมูลจำนวน 31 ราย ต่อมามีเอกชนยื่นข้อเสนอโครงการฯ 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (กลุ่ม BSR) และ 2. กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH)

ทั้งนี้การประเมินข้อเสนอแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2562 กลุ่ม CPH เป็น“ผู้ยื่นข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนที่ผ่านการพิจารณา” และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เข้าสู่ขั้นตอนการเจรจากับกลุ่ม CPH โดยประชุมเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง และประชุมคณะทำงานย่อยเพื่อเจรจาสัญญาไปแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง ซึ่งจะบรรลุข้อตกลงในการเจรจาภายใน 26 เมษายน 2562 นี้

อย่างไรก็ตามขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนั้น ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะจัดส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนที่เจรจากับผู้ผ่านการประเมินให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยสำนักงานอัยการสูงสุดจะแจ้งผลการตรวจพิจารณาโดยเร็วต่อ รฟท. ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเสนอผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน ให้ กพอ.พิจารณาในวันที่ 15 พ.ค. หลังจากนั้นเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ วันที่ 28 พ.ค. โดยรฟท.คาดจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.นี้ 

2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก
คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้เปิดรับให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการฯ ในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอ 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) 2. กลุ่ม Grand Consortium 3. กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จากัด และพันธมิตร  โดยขณะนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ อยู่ระหว่างการประเมินขัอเสนอ และคาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอแล้วเสร็จ และประกาศผลผู้ผ่านการประเมินที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดได้ภายในพ.ค. 2562

3. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ทางคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการฯ และมีผู้ซื้อเอกสารจำนวน 18 ราย ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ จำนวน 1 กลุ่มคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า ได้แก่ กัลฟ์และพีทีทีแทงค์ โดยขณะนี้ คณะกรรมการคัดเลือกอยู่ระหว่างการประเมินข้อเสนอ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเจรจากับภาคเอกชนได้ภายในเดือนเม.ย. 2562

4.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ ทางคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ได้เปิดรับให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการฯ ซึ่งมีเอกชนซื้อเอกสาร 35 ราย วันที่ 29 มี.ค.62 ต่อมามีภาคเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 กลุ่ม คือ 1 กลุ่มกิจการร่วมค้า จีพีซี (กลุ่ม GPC)  2. กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี (กลุ่ม NCP)   ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกอยู่ระหว่างการประเมินข้อเสนอ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค. 2562