posttoday

ผลเลือกตั้งติดหล่ม...ลุ้นค่าจ้างใหม่ไม่ทันพฤษภาคม

22 เมษายน 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์    รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์    รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

กลับสู่โลกแห่งความจริงหลังจากจบวันหยุดยาวสงกรานต์ ภาพการเมืองไทยกลับมาเข้มข้นร้อนแรงมากกว่าเดิมเพราะสองขั้วใหญ่แข่งกันต่างเกทับกันว่าได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งสามารถเป็นแกนตั้งรัฐบาล ขณะเดียวกันกติกาคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ที่ไม่ชัดเจนจนกกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ณ เวลานี้หากหักวันหยุดราชการจะเหลือเวลาเพียง 12 วันตามกฎหมายเลือกตั้งต้องประกาศผล

การติดหล่มทั้งจากกติกาเลือกตั้งที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนทำให้เกิดวิกฤตทางตันในการตั้งรัฐบาลที่เสียงก้ำกึ่งไม่ว่าใครเป็นก็ไม่มีเสถียรภาพรอวันยุบสภา กระทบไปถึงการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเดิมจะมีผลก่อนสงกรานต์ต่อมาเลื่อนออกไปจะประกาศในวันเมย์เดย์ 1 พฤษภาคมเพื่อเป็นของขวัญเอาใจผู้ใช้แรงงาน แต่อาจต้องเลื่อนออกไปเพราะก่อนเลือกตั้งมัวไปสาละวนกับการหาเสียงและหลังเลือกตั้งมีเรื่องสำคัญกว่าต้องมาแก้เกมส์ที่พลิกล็อค

ล่าสุดกระทรวงแรงงานออกมาระบุว่าอาจต้องชะลอวันประกาศค่าจ้างประจำปี 2562 ออกไปก่อนเพราะต้องรอรัฐบาลใหม่ อันที่จริงการพิจารณาค่าจ้างปีนี้คณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคีได้พิจารณาจบไปตั้งแต่ต้นปีแต่การประชุมข้างหลังสุดทางบอร์ดค่าจ้างมีมติให้ทบทวนเพราะตามโผเดิมที่กรรมการค่าจ้างจังหวัดส่งให้อนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองได้ปรับอัตราลดหลั่นตั้งแต่วันละ 2 บาทถึง10 บาท แต่มี 49 จังหวัดระบุว่าเศรษฐกิจไม่เอื้อขอคงอัตราเดิมไว้ก่อนแต่บอร์ดค่าจ้างใจดีถึงไม่ปรับก็ปรับให้เองเป็นวันละ 2 บาท

ขณะเดียวกันมีแรงกดดันแทรกแซงจากพรรคพลังประชารัฐที่ชูบิ๊กตู่เป็นนายก ช่วงหาเสียงจะปรับเป็นวันละ 325 ถึง 350 บาท ที่สุดพิจาณาไม่ได้ส่งเรื่องกลับให้กรรมการค่าจ้างจังหวัดไปทบทวนใหม่ ถึงตรงนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าการประกาศอัตราค่าจ้างใหม่คงต้องเลื่อนออกไป ถึงแม้จะมีประชุมบอร์ดค่าจ้างในช่วงปลายเดือนนี้ แต่ทราบว่ายังไม่มีการพิจารณาตัวเลขที่ต้องส่งจากจังหวัดต่างๆทั่วประเทศมาให้พิจารณา อาจทำให้บอร์ดไตรภาคีไม่สามารถเคาะตัวเลขออกมาได้และอาจต้องรอไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งซึ่งจนถึงขณะนี้ไม่ทราบว่าจะลงตัวกันอย่างไร

ประเด็นที่ภาคเอกชนมีความกังวลเพราะการเมืองเริ่มใช้ค่าจ้างเป็นเครื่องมือหาเสียง การปรับมักคำนึงแต่ภาคอุตสาหกรรมทั้งที่มีแรงงานประมาณ 6.20 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.2 ของแรงงานทั้งหมด แรงงานส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคบริการมีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 35

ขณะที่แรงงานในภาคเกษตรมีสัดส่วนร้อยละ 30 ดังนั้นการปรับค่าจ้างจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบไปทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องกับขีดความสามารถที่ไม่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่จำกัดเทียบกับธุรกิจรายใหญ่และต่างชาตินอกจากได้แต้มต่อเสียภาษีต่ำกว่าเพราะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ต้องเสียเลยเนื่องจากได้รับส่งเสริมการลงทุนบีโอไอ อีกทั้งธุรกิจใหญ่ยังสามารถเข้าถึงแหล่งทุนแบบไม่มีข้อจำกัด สามารถปรับเปลี่ยนเครื่องจักรหรือธุรกรรมใช้หุ่นยนต์หรือออโต้เมชั่นทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น

ที่กล่าวเช่นนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าธุรกิจของคนตัวเล็กเช่นเอสเอ็มอีซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยจะอยู่ได้อย่างไร นโยบายปรับค่าจ้างไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปอิงกับนโยบายหาเสียงเพราะค่าจ้างเป็นต้นทุนของประเทศทั้งรัฐบาลและนักการเมืองไม่ได้เป็นคนจ่าย โดยที่ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยอาจไม่ขี้เหร่อยู่ในระดับต้นๆของอาเซียนแต่ไส้ใน “กลวง” เพราะความมั่งคงไปกระจุกที่ทุนใหญ่เพียงไม่กี่ราย อีกทั้งค่าแรงของไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านประมาณ 2 เท่า ขณะที่เรายังต้องแข่งด้านราคาของสินค้าส่งออกผลกระทบที่เป็นนัยมีต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น, อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและสินค้าเกษตร

จึงไม่แปลกที่ภาคเอกชนต่างออกมาเตือนให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการนำค่าจ้างเป็นนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะในช่วงหาเสียงเลือกตั้งการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดไม่เป็นผลดีต่อใคร ในช่วงสั้นๆผู้ใช้แรงงานอาจ “เฮ”จากรายได้ที่สูงแต่ที่ตามมาคือข้าวของขึ้นราคาตามติดหรือแซงหน้าค่าแรงที่ปรับขึ้น

ส่วนพรรคการเมืองที่ชูประเด็นค่าจ้างส่วนใหญ่สอบตกทิ้งปัญหาให้ประเทศ ที่หลุดเข้าไปได้ก็จะถูกแรงกดดันให้ทำตามที่พูดช่วงหาเสียง แต่ผลที่ตามมาในระยะต่อไปการลงทุนที่ใช้แรงงานมากๆจะหายไปมีแต่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งใช้แรงงานไม่มาก ขณะที่แต่ละปีมีแรงงานใหม่เข้ามาในตลาดแรงงานประมาณ 5 แสนกว่าคนถึงคนจะเกิดน้อยลงแต่ก็แก่ช้าลงเช่นกันซึ่งยังคงต้องกินต้องใช้จะทำอย่างไร

จากนี้ไปอยากจะให้หันกลับมาเอาจริงจังกับกลไกปรับค่าจ้างซึ่งใช้มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัลแต่รูปแบบของค่าจ้างขั้นต่ำยังเหมือนเดิมพวกผู้ใช้แรงงานก็ยังอ้างลัทธิคาร์ล มาร์กซ์ มาถึงพ.ศ.นี้แล้วควรจะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวันเวลาที่เปลี่ยนไป จะต้องรอถึงเมื่อใดที่ประเทศไทยจะพ้นหลุดออกจากกับดักของวัฏจักรค่าจ้างขั้นต่ำแบบประชานิยมได้ซะที......จริงไหมครับ


(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)