posttoday

"รฟฟท."ชูค่าตั๋วรถไฟสายสีแดงช่วงรังสิต-บางซื่อ15-60บาท

13 เมษายน 2562

"รฟฟท."คาดรถไฟสายสีแดงช่วงรังสิต-บางซื่อรายได้ทะลุพันล้านต่อปี เล็งเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ เคาะค่าโดยสาร 60 บาทตลอดสาย กลายเป็นรถไฟฟ้าถูกสุดในกรุงเทพ

"รฟฟท."คาดรถไฟสายสีแดงช่วงรังสิต-บางซื่อรายได้ทะลุพันล้านต่อปี เล็งเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ เคาะค่าโดยสาร 60 บาทตลอดสาย กลายเป็นรถไฟฟ้าถูกสุดในกรุงเทพ

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท. )หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่าสำหรับการบริหารสายสีแดงช่วงรังสิต-บางซื่อนั้นบริษัทลูกจะเป็นผู้บริหารและรับความเสี่ยงการเดินรถทั้งหมด เบื้องต้นคาดว่าจะมีรายได้ค่าโดยสารมากกว่าปีละ 1 พันล้านบาท จากปริมาณผู้โดยสารราว 70,000-100,000 คน/วัน

ดังนั้นจึงคาดว่าโครงการนี้จะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 7-8 ปี ด้วยการกำหนดราคาค่าโดยสารไว้สูงสุดตลอดสายที่ 60 บาท หรือ 15-60 บาท ระยะทางรวม 41 กม. หรือเฉลี่ย 1.4 บาท/กม. และจะยังคงอัตราไปจนถึงช่วงตลิ่งชันในอนาคต ซึ่งจะกลายเป็นรถไฟฟ้าเส้นทางที่ถูกสุดในกรุงเทพมหานคร จากปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มีค่าโดยสารเฉลี่ย 1.6 บาท/กม.

สำหรับอัตราค่าโดยสารดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นการจูงใจประชาชนและสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยตามแนวชานเมืองให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ อย่างไรก็ตามหากเปิดบริการแล้วพบว่าโครงการดังกล่าวขาดทุน ทางบริษัทจะพิจารณาพัฒนาฟีดเดอร์ระบบขนส่งเชื่อมต่อให้เข้าถึงแนวรถไฟฟ้าสายสีแดง

นายสุเทพกล่าวต่อว่านอกจากการเดินรถแล้ว บริษัทลูก ยังได้รับสิทธิ์เป็นผู้บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงจำนวน 10 สถานีจากทั้งหมด 13 สถานี ส่วนที่เหลือการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)จะดูแลพื้นที่พาณิชย์ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง และรังสิต ทั้งนี้ คาดว่ารายได้เชิงพาณิชย์ จะมีสัดส่วนประมาณ 6% ของรายได้จากการเดินรถ โดยรายได้การเดินรถ หรือราว 60 ล้านบาท/ปี ซึ่งถือว่าเพิ่มเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 30 ล้านบาท/ปี สำหรับแนวทางการบริหารนั้นจะต้องแบ่งสัญญางานพัฒนาบางส่วนออกมาเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาดูแลเช่นพื้นที่จอดรถเป็นต้น โดยขั้นตอนการยื่นข้อเสนอนั้นจะต้องจบในปี 2562-2563 หรือก่อนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายนี้

นายสุเทพกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ นั้นในปีที่ผ่านมามีรายได้ทั้งหมด 740 ล้านบาท คาดการณ์รายได้ปีนี้ขบายตัว 6% เพิ่มขึ้น 44 ล้านบาท ส่วนด้านทรัพย์สินของโครงการ อาทิรถไฟทั้ง9 ขบวน และทรัพย์สินอื่น จะถูกโอนไปรวมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา. ซึ่งคาดว่าการประกวดราคาและขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับซีพี.จะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ควบคู่ไปกับเสนอให้เอกชนพิจารณาลงทุนจัดซื้อรถไฟใหม่ 7 ขบวนรองรับการเติบโตของผู้โดยสารในระยะยาว

นายสุเทพกล่าวว่าส่วนเรื่องความพร้อมของบุคลากรนั้น ในช่วงเดือนเม.ย. นี้ จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ชุดแรก52 คนไปอบรมระบบเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตขบวนรถก่อนที่ในอนาคตพนักงาน 500 คนของ รฟฟท.ก็จะถูกโอนย้ายไปบริษัทบริหารรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งหมด อีกทั้งจะต้องเปิดรับเพิ่มอีก 200 คน เพราะจากการประเมินโครงการต้องมีพนักงานรวม 773 คนในช่วงเริ่มต้น

นายสุเทพกล่าวอีกว่าส่วนแผนดำเนินงานปี 2562ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ นั้นเตรียมปรับความถี่ในการเดินรถจาก 10 นาที เป็น 8.30 นาที เพื่อให้สามารถรองรับกับจำนวนผู้โดยสารได้มากขึ้น รวมทั้งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มเติม เช่น เตรียมติดตั้งยางปิดช่องระหว่างชั้นชานชาลา และประตูรถไฟฟ้า (Platform Gap Filler) บนชั้นชานชาลา 8 สถานี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2562

นอกจากนี้ยังมีแผนก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก และความปลอดภัยในการใช้บริการ ได้แก่ การติดตั้งราวกั้นสแตนเลสบนชั้นชานชาลาใน 7 สถานี , การสร้างบันไดเลื่อนระหว่างชั้นจำหน่ายตั๋ว และชั้นทางเดินเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีพญาไท คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2562 , การจัดทำระบบอินเตอร์เน็ตไร้สาย (WIFI) เพื่อให้ผู้โดยสารได้ใช้บริการฟรี , การติดตั้งจอ LED เพิ่มเติมเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับทราบข้อมูลการเดินทางอย่างทั่วถึง