posttoday

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนมี.ค.พุ่ง 1.24%

01 เมษายน 2562

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อมี.ค.เพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เผยปัจจัยกดดันหลักมาจากราคาอาหารสดที่เพิ่มต่อเนื่อง

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อมี.ค.เพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เผยปัจจัยกดดันหลักมาจากราคาอาหารสดที่เพิ่มต่อเนื่อง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนมี.ค.2562 เท่ากับ 102.37 เพิ่มขึ้น 0.41% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2562 ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 1.24% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2561 เป็นการสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ของปี 2562 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาอาหารสดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และราคาพลังงานปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 0.74%

ทั้งนี้ รายละเอียดเงินเฟ้อเดือนมี.ค.2562 ที่ปรับเพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.38% โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 4.58% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 4.70% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 0.81% ผักและผลไม้ เพิ่ม 2.77% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.81% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.74% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.75% นอกบ้าน เพิ่ม 1.85%

ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 0.58% โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.32% เคหสถาน เพิ่ม 0.61% การรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.33% การขนส่งและการสื่อสาร เพิ่ม 0.79% การบันเทิง การอ่านและการศึกษา เพิ่ม 0.30% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลด 0.01%

“เงินเฟ้อเดือนมี.ค. ปัจจัยกดดันหลัก มาจากราคาผักสด ที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะผักสด ราคาเพิ่มขึ้นถึง 9.54% สินค้าสำคัญที่เพิ่ม เช่น คะน้า ผักชี และมะนาว ที่ราคาต่ำสุดลูกละ 3 บาท สูงสุดลูกละ 6 บาท และยังมีแนวโน้มที่ราคากลุ่มผักจะสูงขึ้นอีกจากภัยแล้ง ทำให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งต้องจับตา ส่วนราคาน้ำมัน เพิ่มขึ้น 2.27% ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดัน และราคามีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอีก”

ด้านความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าในเดือนมี.ค.2562 มีสินค้าเพิ่มขึ้น 246 รายการ เช่น เนื้อสุกร ข้าวสารเจ้า น้ำพริกแกง กระหล่ำปลี มังคุด ไข่ไก่ ไก่สด มะนาว น้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เปลี่ยนแปลง 83 รายการ และลดลง 93 รายการ เช่น น้ำมันพืช มะละกอสับ ลองกอง องุ่น กล้วยน้ำว้า กุ้งขาว แป้งทาผิวกาย แชมพู น้ำยาปรับผ้านุ่ม

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้ารายการกลุ่มอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2562 และเพิ่มขึ้น 0.58% เมื่อเทียบกับมี.ค.2561 ส่วนเฉลี่ย 3 เดือน เพิ่ม 0.62%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 2 คาดว่า จะยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยกดดันมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อราคาผักสด และการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ทุกปีจะทำให้ราคาสินค้าบางรายการปรับเพิ่มขึ้น และเปิดเทอมที่ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก เพราะกรมการค้าภายในจะมีการร่วมมือกับผู้ผลิต ห้างสรรพสินค้าจัดมหกรรมลดราคาต้อนรับเปิดเทอม โดยสินค้าที่ราคาจะเพิ่มขึ้น คงเป็นไข่ไก่ จากความต้องการบริโภคที่จะสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีเคลื่อนไหวในกรอบ 0.7-1.7% ตามเป้าหมายที่ได้ประเมินไว้เช่นเดิม