posttoday

รฟท.จ้างเอาท์ซอร์ซผ่าทางตันขาดแคลนบุคลากร

26 มีนาคม 2562

รฟท.จ้างเอาท์ซอร์ซแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร จ่อเปิดประมูลงานวางระบบดิจิทัลรถไฟ 900 ล้านบาท

รฟท.จ้างเอาท์ซอร์ซแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร จ่อเปิดประมูลงานวางระบบดิจิทัลรถไฟ 900 ล้านบาท

นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่าความคืบหน้าการขอรับบุคลากรเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนนั้นหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบปลดล็อคเรื่องเพดานการรับบุคลากรใหม่ที่เดิมกำหนดไว้เพียง 5% ของจำนวนผู้เกษียณอายุราชการในแต่ละปีไปแล้ว ทว่าการขอรับคนเพิ่มยังเกี่ยวพันกับขั้นตอนอีกมากมายทั้งการเสนอแผนฟื้นฟูและปรับโครงสร้างองค์กรระยะ 10 ปีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา รวมถึงนำความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา ตลอดจนรายงานการศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายเช่น หากรับคนเพิ่มจะลดภาระค่าทำงานล่วงเวลา(โอที)ของพนักงานได้อย่างไร เป็นต้น

ส่วนด้านแผนแม่บทโครงสร้างองค์กรนั้นขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้วและจะเสนอให้ทางกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในสัปดาห์นี้เพื่อส่งต่อไปยัง คนร. เพื่อพิจารณาต่อไป

นางสิริมากล่าวต่อว่าสำหรับการขอรับคนเพิ่มในปี 2562 จำนวน 1,904 คนนั้นหากทาง คนร.หรือ ครม. ยังไม่เห็นชอบก็รับไม่ได้สักคน เพราะเงื่อนไขคือต้องผ่านการเห็นชอบ ส่วนด้านโครงการรถไฟทางคู่ที่จะทยอยเปิดใช้เกือบทุกปีต่อจากนี้นั้น

ทั้งนี้ตามผลการศึกษา รฟท.พบว่าต้องการบุคลากรอีกอย่างน้อย 5,000 คนขึ้นไปเพื่อรองรับรถไฟทางคู่เฟส 1 ดังนั้นหากยังไม่สามารถรับคนเพิ่มได้คงต้องใช้วิธีการรับจ้างหน่วยงานภายนอก(Outsource) เข้ามาทำงานผ่านบริษัทจัดหางานในแต่ละตำแหน่งที่ขาดเป็นงานๆไปเพื่อทดแทนอัตรากำลังไปก่อนเฉพาะในงานบางอย่างก็จะทำให้ได้บุคลากรที่ไม่ได้มีความชำนาญพิเศษไม่ต้องฝึกนานแต่ถ้าต้องฝึกนานจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนของรฟท. ซึ่งก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาการรถไฟฯได้บางส่วน คาดว่าจะทยอยจ้างภายในปีนี้หากการขอรับคนยังไม่มีความคืบหน้า โดยปัจจุบันรฟท.ได้มีการรับลูกจ้างการรถไฟเต็มอัตรา 4,000 แล้ว

นางสิริมากล่าวต่อว่าส่วนของระบบจำนวนตั๋วออนไลน์ปัจจุบันอยู่ในสัญญาจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการที่จะหมดสัญญาเช่าระบบในปี 2563 ดังนั้นรฟท.จึงมีแผนเปิดประมูลงานพัฒนาระบบไอทีของการรถไฟ วงเงิน 900 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้มีการทำประชาพิจารณ์ร่างเอกสารประกวดราคา(TOR) แล้วเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยทางคณะกรรมการจะนำมาปรับปรุง TOR ต่อไป ส่วนเอกชนที่ชนะการประมูลนั้นนอกเหนือจากการพัฒนาระบบให้รฟท.แล้วก็จะต้องให้บริการผ่านระบบดังกล่าวเป็นระยะเวลา 5 ปี

ขณะที่ด้านความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา และจากการประชุมครั้งล่าสุดทางกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟฯกลับมาจัดทำข้อมูลเรื่องเขตความปลอดภัยในการเดินรถไฟ ผู้ประจำรถไฟ คนขับรถไฟฯ เป็นต้น ซึ่งทางการรถไฟฯมีความกังวล เนื่องจากเขตทางรถไฟไม่ได้เท่ากันทั้งประเทศแต่มองว่าการกำหนดเขตทางดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยในการเดินรถที่เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยทางกระทรวงฯก็เตรียมที่จะมีการจัดอบรมร่วมกันต่อไป