posttoday

ลุ้นการเมืองไร้ขัดแย้ง เศรษฐกิจเดินหน้า

25 มีนาคม 2562

ภาคเอกชน หวังหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ จะไม่มีความขัดแย้ง เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจโพสต์ทูเดย์

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 นี้ หากไม่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงไปสู่การชุมนุมทางการเมือง เอกชนพร้อมเชื่อมั่นหมดไม่ว่าหน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร

"อะไรก็ได้ที่ชนะ ตั้งรัฐบาลได้ไม่เกิดความขัดแย้ง ความเชื่อมั่นก็จะมาเอง เพราะนักลงทุนไม่ได้ดูว่าพรรคการเมืองไหนจะมาเป็นรัฐบาล แต่มองในเรื่องของเสถียรภาพทางการเมืองที่ไม่ควรมีความขัดแย้ง หรือการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยได้" วิศิษฐ์ กล่าว

ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า นโยบายที่รัฐบาลใหม่ควรให้น้ำหนักหลายเรื่องยกตัวอย่าง 3 ด้านสำคัญ คือ 1.การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้วยการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง อาทิ ดูแลนโยบายการจัดเก็บภาษี การใช้จ่ายภาครัฐ การก่อหนี้ รวมถึงนโยบายอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความสมดุล เหมาะสมกับเงื่อนไขเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้เฉลี่ยราว 4-5% ต่อปี

เรื่องที่ 2.นโยบายที่ดูแลด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องทำให้ภาคชุมชนและท้องถิ่น มีความเข้มแข็ง ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก มีความสามารถสร้างรายได้และจัดการตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ มีทักษะและผลิต ภาพแรงงานที่ดีขึ้น รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตได้ อันจะทำให้รายได้เติบโตรวดเร็วขึ้น ยั่งยืนขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางเชิงนโยบายที่มีความต่อเนื่อง และ 3.นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจ มักต้องแลกมาด้วยความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะย้อนกลับมากระทบคุณภาพชีวิตของประชากร และเศรษฐกิจในระยะยาวจึงควรมีนโยบายดูแลอย่างจริงจัง

มิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ดังนั้น ไม่ว่าผลกระทบเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่ว่าใครจะมา เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล จะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจประเทศไทย

สำหรับประเด็นที่อาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์นั้นคือ ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ ยังเป็นแค่การตั้งสมมติฐานความเป็นไปได้เท่านั้นซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการตั้งรัฐบาลและการประกาศความชัดเจนของนโยบายหลังจากนี้

"บริษัทในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล จึงต้องรอความชัดเจน และจากนั้นจึงจะพิจารณาออกมาตรการของบริษัทรองรับต่อไป" ซึงาตะ กล่าว

พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า เวลานี้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์วางแผนธุรกิจไว้ว่า หลังผ่านการเลือกตั้งแล้วจะเร่งพัฒนาโครงการใหม่กันอย่างต่อเนื่อง แต่ในเวลานี้ก็ชะลอดู จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาราชการไม่มีการประชุมงานกันทุกคนต้องการรอความชัดเจนทั้งหมดทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง เพราะเขาต้องการให้เลือกตั้งมีความชัดเจนก่อน

"ที่ผ่านมา มาตรการของภาครัฐในช่วง 4-5 ปีก็เดินหน้าไปได้ดี เป็นไปตามสภาวะการแข่งขันและเศรษฐกิจโลก สิ่งที่อยากให้ดูแลคือเรื่องของโครงการบ้านบีโอไอ ต้องมีการยืดหยุ่น เพราะที่ผ่านมาไม่มีการเคลื่อนไหวตามต้นทุนที่เกิดขึ้น เช่น ราคายูนิตละ 1.2 ล้านบาท ผ่านไป 3 ปี ราคาก็ยังยูนิตละ 1.2 ล้านบาท จึงพัฒนาได้ค่อนข้างยาก ซึ่งหากนำโครงการบ้านบีโอไอกลับมาใหม่ควรจะสนับสนุนเป็นรายโครงการ เพราะจะทำให้โครงการบ้านล้านหลัง ประสบความสำเร็จในระยะยาว สิ่งนี้ใช่จะประสบความสำเร็จในทุกพื้นที่ ต้องเอาข้อมูลการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาใช้ รวมไปถึงการขอบีโอไอมาสนับสนุนน่าจะเป็นผลดี" พรนริศ กล่าว

นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาประเทศต้องมีการกระจายลงทุนไปตามหัวเมืองใหญ่ อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต เขตเศรษฐกิจพิเศษภาค ตะวันออก สร้างงานให้เกิดขึ้นมาก จะทำให้คน ในท้องถิ่นไม่ต้องมาทำงานในกรุงเทพฯ ลดความหนาแน่นกรุงเทพฯ และเพิ่มจีดีพีในจังหวัด

พรนริศ กล่าวว่า ส่วนนโยบายพรรคการเมืองที่หาเสียง เรื่องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะทำได้จริงไหมเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสูงถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับ สปป.ลาว จะทำให้คนลาวย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทยหมด เพราะการขึ้นค่าแรงงานนั้นจะต้องดูตลาดโลก ถ้าผู้ลงทุนอุตสาหกรรมเลิกใช้แรงงาน เพราะเขาไปลงทุนในหุ่นยนต์ว่าคุ้มแล้ว หรือปิดดีกว่าเพราะมีการย้ายฐานการผลิต จะยิ่งเป็นผลกระทบ มากขึ้นในระยะยาว

อิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ถือว่าการเลือกตั้งผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้า ซึ่งการตั้งรัฐบาลต้องใช้เวลาอีกสักพัก แต่เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวก เพราะทุกพรรคล้วนมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ส่วนภาคอสังหาฯ ไม่หยุดชะงัก เนื่องจากใครจะเป็นรัฐบาล ธุรกิจต้องเดินหน้าต่อไป

ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากไปถึงรัฐบาลใหม่มีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่องหลัก คือ 1.ประเทศไทยต้องมีความมั่นคง จึงจะทำให้เศรษฐกิจของไทยไหลโฟลว์ได้ และ 2.ต้องมี นโยบายในการทำงานที่ชัดเจน ไม่ฉาบฉวย เพื่อพาประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำของอาเซียนให้สำเร็จ ในฐานะผู้ประกอบการพวกเรายังคงเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า ช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ภาคเอกชนก็ยังขยายการลงทุนเพราะประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี

"อีกหนึ่งสิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญ คือ การสร้างความเท่าเทียมในสังคมให้เกิดขึ้น และทำให้ประเทศไทยชนะใจคนทั้งโลก ด้วยการผลักดันประเทศในด้านของการลงทุน และจับมือกับต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อให้คนต่างชาติเข้ามาอยู่ประเทศไทยแทนการมาท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ถ้าทำได้จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศทำได้จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศอีกมหาศาล" ชฎาทิพ กล่าว