posttoday

ส่งออกก.พ.บวก5.9%หลังแก้ปัญหาประมง-แรงงานคืบหน้า

22 มีนาคม 2562

การส่งออกเดือน ก.พ. พลิกกลับเป็นบวก มูลค่า 2.15 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังการแก้ปัญหาประมงและแรงงานมีความคืบหน้า

การส่งออกเดือน ก.พ. พลิกกลับเป็นบวก มูลค่า 2.15 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังการแก้ปัญหาประมงและแรงงานมีความคืบหน้า

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ตัวเลขส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.พ. 2562 มีมูลค่า 2.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.91% เทียบกับเดือน ก.พ.ปีก่อน เป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 4 เดือน หลังจากเดือน พ.ย. 2561 ส่งออกติดลบ 0.95% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 6.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.48%

สำหรับการนำเข้ามีมูลค่า 1.75 แสนล้านดอลลาร์ ลดลง 10.03% เป็นการติดลบหลังจากเดือน ม.ค. 2562 ที่เพิ่มขึ้นถึง 13.96% เมื่อคิดเป็นเงินบาทนำเข้ามีมูลค่า 5.58 แสนล้านบาท ลดลง 10.38% ส่งผลให้เดือน ก.พ. 2562 เกินดุล 4,034.4 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.19 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกเดือน ก.พ. 2562 เมื่อหักการส่งออกสินค้าทองคำ น้ำมัน ที่มีความผันผวนสูง และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่นำเข้ามามากเพื่อซ้อมรบกับสหรัฐจะติดลบถึง 4.9% ด้านการส่งออกในช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2562 มีมูลค่า 4.05 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 4.05 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.20% ส่งผลไทยเกินดุลการค้า 2 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อคิดเป็นเงินบาทขาดดุล 2.08 หมื่นล้านบาท

“การส่งออกเดือน ก.พ.ที่เพิ่มขึ้นมาจากหลายปัจจัย เช่น ราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้น สงครามการค้าเริ่มลดความตึงเครียดลง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลง การแก้ปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป ฯลฯ” น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

นอกจากนี้ มีสินค้าดาวรุ่งหลายรายการที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมาก เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งแปรรูป เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ยังคงเป็นค่าเงินบาทแข็งค่าที่ทำให้ราคาสินค้าไทยแพงขึ้น และความสามารถการแข่งขันลดลง และผลใช้บังคับความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของประเทศคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในไตรมาส 2 จะดีขึ้น เพราะสงครามการค้าน่าจะหาทางออกที่ดีได้ และทำให้บรรยากาศการค้าโลกดีขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยในปี 2562 ไว้ที่ 4.5% โดยยังต้องติดตามสงครามการค้าในช่วงเดือน เม.ย.นี้ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า