posttoday

ดีเดย์เปิดยื่นขายไฟโซลาร์สะพัด4หมื่นล.

21 มีนาคม 2562

เปิดรับโซลาร์ภาคประชาชน พ.ค.นี้ นำร่องปีแรก 100 เมกะวัตต์ คาดเงินลงทุนสะพัดช่วง 10 ปี 4 หมื่นล้าน

เปิดรับโซลาร์ภาคประชาชน พ.ค.นี้ นำร่องปีแรก 100 เมกะวัตต์ คาดเงินลงทุนสะพัดช่วง 10 ปี 4 หมื่นล้าน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว. พลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดตัวโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์) ภาคประชาชน ซึ่งบรรจุการรับซื้อไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2018) ระยะ 20 ปี สิ้นสุดปี 2580 จำนวน 1 หมื่นเมกะวัตต์ แต่กำหนดให้นำร่อง 10 ปีแรก (ปี 2562-2571) โดยทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์ เริ่มปี 2562 ที่จะเปิดให้รับจดทะเบียนตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้เป็นต้นไป คาดจะมีการติดตั้งเฉลี่ยปีละ 1-2 หมื่นระบบ หรือ 10 ปี 2 แสนครัวเรือน ก่อให้เกิดการลงทุนปีละ 4,000 ล้านบาท รวม 10 ปี ลงทุนทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านบาท

"โครงการนี้ขอย้ำว่าเน้นการผลิตไฟใช้เองเป็นหลัก โดยจะรับซื้อไฟเฉลี่ย 1.68 บาท/หน่วย ที่คิดจากต้นทุนส่วนเกินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะไม่กระทบค่าไฟกับประชาชนที่ไม่ได้ติดตั้ง" นายศิริ กล่าว

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. กล่าวว่า จะมีการเปิดรับลงทะเบียนสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และเว็บไซต์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือน พ.ค. และหมดเขตรับลงทะเบียนภายในปี 2562 และทยอยประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาโดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในปี 2562

น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมต้องเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า เป็นผู้ที่มีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์/ครัวเรือน แบ่งการรับซื้อเขต กฟน. 30 เมกะวัตต์ กฟภ. 70 เมกะวัตต์ การพิจารณาตามลำดับก่อนหลัง โดยจะยึดถือวันและเวลาที่ได้รับแบบคำขอที่มีความสมบูรณ์ของเอกสารหลักฐานที่กำหนดเป็นสำคัญราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตรา ไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี