posttoday

ไทยค้านปมอุดหนุนข้าว

20 มีนาคม 2562

ไทยผนึกเวียดนาม สหรัฐ อียู กดดันอินเดียเลิกอุดหนุนส่งออกข้าวอัตรา 5% ในเวทีดับเบิ้ลยูทีโอ เล็งจับตาอินเดียห้ามต่ออายุมาตรการ

ไทยผนึกเวียดนาม สหรัฐ อียู กดดันอินเดียเลิกอุดหนุนส่งออกข้าวอัตรา 5% ในเวทีดับเบิ้ลยูทีโอ เล็งจับตาอินเดียห้ามต่ออายุมาตรการ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทยได้ร่วมกับสมาชิกหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐ ญี่ปุ่น สอบถามอินเดียในการประชุมคณะกรรมการเกษตรสมัยสามัญของดับเบิ้ลยูทีโอ ที่นครเจนีวา ถึงกรณีที่อินเดียใช้มาตรการกระตุ้นส่งออกข้าวด้วยการให้เงินอุดหนุนจูงใจผู้ส่งออก 5% ซึ่งใช้ระหว่างวันที่ 26 พ.ย. 2561-25 มี.ค. 2562 ล่าสุดอินเดียชี้แจงในที่ประชุมว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการอุดหนุนการส่งออก เพื่อลดต้นทุนการตลาดและค่าขนส่งในประเทศ ซึ่งเป็นการอุดหนุนการส่งออกที่ยกเว้นให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถทำได้

ทั้งนี้ ไทยและหลายประเทศ เช่น สหรัฐ อียู ได้แสดงความกังวลต่อการใช้มาตรการดังกล่าว และได้ขอให้อินเดียให้รายละเอียดของมาตรการเพื่อความโปร่งใส รวมทั้งขอทราบว่าหากมาตรการดังกล่าวได้หมดอายุลง อินเดียมีแผนจะต่ออายุมาตรการหรือไม่ และได้ขอให้อินเดียยกเลิกมาตรการและดำเนินการตามพันธกรณีที่ผูกพันไว้ภายใต้องค์การการค้าโลกอย่างเคร่งครัดด้วย ล่าสุดอินเดียแจ้งว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการชั่วคราวและไม่มีแผนที่จะต่ออายุมาตรการออกไป หลังจะหมดอายุในเดือน มี.ค. 2562


“กระทรวงพาณิชย์จะติดตามการใช้มาตรการดังกล่าวของอินเดียอย่างใกล้ชิด และหากอินเดียยังคงใช้มาตรการก็จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับอินเดีย และรวมกับสมาชิกดับเบิ้ลยูทีโออื่นๆ เพื่อผลักดันอินเดียให้ยกเลิกมาตรการต่อไป เบื้องต้นตามหลักการความตกลงเกษตรของดับเบิ้ลยูทีโอจะไม่สามารถให้การอุดหนุนส่งออกสินค้าเกษตรได้ หากไม่ได้แจ้งสงวนวงเงินที่จะใช้ไว้ ส่วนกรณีประเทศกำลังพัฒนายังสามารถอุดหนุนส่งออกได้ แต่ต้องเป็นการอุดหนุนที่ให้เพื่อลดต้นทุนการตลาด ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ การปรับปรุงคุณภาพ และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง” นางอรมน กล่าว

ด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออกข้าวไทยได้หารือร่วมกับผู้ส่งออกข้าวของเวียดนาม ในการทำให้หนังสือให้กับรัฐบาลของทั้งสองประเทศยื่นประท้วงอินเดีย กรณีที่มีนโยบายการอุดหนุนส่งออกข้าวในอัตรา 5% (ข้าวนึ่ง ข้าวหัก ข้าวกล้อง) ของมูลค่าส่งออก เพราะถือว่าไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากผู้ประกอบการจากอินเดียสามารถที่จะส่งออกข้าวในราคาต่ำได้กว่าประเทศคู่แข่งขัน เนื่องจากมีรัฐบาลให้ความช่วยเหลือ ดังนั้นหากภาครัฐและเอกชนไม่ร่วมกันกดดันจะทำให้ไทยส่งออกข้าวได้ลำบากมากขึ้น และยิ่งเป็นการซ้ำเติมผลกระทบค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้ต้นทุนการส่งออกข้าวไทยเพิ่มสูงขึ้น

“ที่ผ่านมาได้หารือกับผู้ส่งออกจากเวียดนามและทั้งสองเห็นว่าการอุดหนุนผู้ส่งออกข้าวอินเดียอัตรา 5% นั้นไม่เป็นธรรมต่อการแข่งขัน แม้ว่าทางอินเดียอ้างว่าจะไม่ขัดต่อระเบียบขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ซึ่งในส่วนของผู้ส่งออกไทยได้ทำเรื่องไปยังกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์แล้ว ซึ่งคงต้องรอภาครัฐพิจารณาว่าผิดหลักดับเบิ้ลยูทีโอหรือไม่ และภาครัฐจะสามารถยื่นประท้วงอินเดียในเรื่องดังกล่าวได้หรือไม่” นายชูเกียรติ กล่าว

สำหรับการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ ทางสมาคมคาดว่าน่าส่งออกได้ 9.5 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 1.5 ล้านตัน ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินบาทไทยแข็งค่าและการแข่งขันที่รุนแรง โดยผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้ผู้ส่งออกไทยต้องปรับเพิ่มราคาข้าวที่จะส่งออกอีกเฉลี่ยตันละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ เพราะหากไม่ปรับราคาจะทำให้ผู้ส่งออกขาดทุนหรือแทบไม่ได้กำไร และที่สำคัญผู้ส่งออกไม่ต้องการไปกดราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรด้วย อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการเพิ่มราคาจำหน่ายข้าวที่สูงมากจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งออก ทำให้ส่งออกได้ลดลง เพราะผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวที่มีต้นทุนต่ำกว่า ทำให้การแข่งขันลำบากมากยิ่งขึ้น