posttoday

บูมคลองเตยแสนล."สมคิด"แนะการท่าเรือฯพัฒนาเชิงพาณิชย์ ดึงเอกชนผุดฮับขนส่ง-กระตุ้นท่องเที่ยว

15 มีนาคม 2562

"สมคิด" แนะการท่าเรือฯ ระดมทุน TFF พัฒนาแลนด์มาร์คคลองเตยมูลค่าแสนล้าน มั่นใจเอกชนแย่งประมูล

"สมคิด" แนะการท่าเรือฯ ระดมทุน TFF พัฒนาแลนด์มาร์คคลองเตยมูลค่าแสนล้าน มั่นใจเอกชนแย่งประมูล

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างตรวจเยี่ยมการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า กทท.ควรนำพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตยมาพัฒนาเป็นฮับขนส่งและพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั้งท่าเรือสินค้าอัจฉริยะ คอมเพล็กซ์ธุรกิจการค้า และจุดจอดเรือครุยส์ เป็นต้น

ดังนั้น พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นที่สนใจของเอกชนหลายเจ้า อีกทั้งพื้นที่มีราคาสูง หาก กทท.สามารถเปิดประมูลให้เอกชนมาเช่าพื้นที่จะสร้างรายได้มหาศาล แต่ต้องหาวิธีลงทุนใหม่ที่ผลักดันให้โครงการเกิดได้เร็ว เช่น เปิดระดมทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) ขายหน่วยลงทุนให้ประชาชน ซึ่งได้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือรัฐวิสาหกิจไม่ต้องแปรรูป ขณะที่ประชาชนก็ได้ผลตอบแทนจากการลงทุน

นายสมคิด กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องดูแลชุมชนบริเวณโดยรอบให้สามารถอาศัยอยู่ควบคู่กับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้ชุมชนรู้สึกมีส่วนร่วม ทั้งการประกอบอาชีพและที่อยู่อาศัย

ด้าน นายกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้เอกชนศึกษาแนวทางการลงทุนและพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตย มูลค่า 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางปีนี้ ก่อนเดินหน้าจัดตั้งบริษัทลูกด้านบริหารทรัพย์สินเข้ามาพัฒนาภายในเดือน ก.ย.นี้ต่อไป

ทั้งนี้ จะแบ่งโซนการพัฒนา โดยในการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้เป็น Smart City ประกอบด้วย การพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ฝั่งตะวันตก (Smart Port) ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดจ้างที่ปรึกษาออกแบบ และการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยให้เป็น Smart Community โดยได้ลงพื้นที่ ชุมชนทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว

นอกจากนี้ จะสำรวจสำมะโนประชากรของผู้ที่อยู่อาศัยจริงในพื้นที่ในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อเตรียมการก่อสร้างในช่วงปี 2564

นายกมลศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ได้กำหนดให้เอกชนยื่นซองในวันที่ 29 มี.ค.นี้ และในวันที่ 11 เม.ย. จะสามารถสรุปผลผู้ชนะได้ ก่อนส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ทั้งนี้คาดว่าจะมีเอกชนรายใหญ่จับกลุ่มกันมาแข่งขันยื่นข้อเสนอเพียง 2 ราย

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เอกชนรายใหญ่ของไทยที่สนใจลงทุนคือ บริษัท ปตท. ขณะที่ต่างชาติที่สนใจเข้าร่วม ได้แก่ กลุ่ม Maersk จากเดนมาร์ก และกลุ่มท่าเรือชั้นนำอย่าง PSA จากสิงคโปร์