posttoday

คมนาคมเดินหน้าประมูลรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนให้เสร็จใน 1 เดือน

14 กุมภาพันธ์ 2562

รมว.คมนาคมลั่นเดินหน้าประมูลรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 1.75 แสนล้าน ให้เสร็จภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ แจงการเจรจาสะดุดเพราะติดปมประกันตัวรถ

รมว.คมนาคมลั่นเดินหน้าประมูลรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 1.75 แสนล้าน ให้เสร็จภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ แจงการเจรจาสะดุดเพราะติดปมประกันตัวรถ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมกล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท ขณะนี้แผนก่อสร้างงานโยธา วงเงินลงทุนราว 1.2 แสนล้านบาท ได้เริ่มทยอยเปิดประมูลบางสัญญาไปแล้ว และกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการประมูลให้ครบทุกสัญญารวม 14 สัญญาภายในเดือน มี.ค. ก่อนเดินหน้าลงนามสัญญากับเอกชนให้เสร็จทั้งหมดภายในเม.ย.-พ.ค.62

ทั้งนี้ขั้นตอนการเจรจายืดเยื้อส่งผลให้ต้องขยับการลงนามสัญญาออกไปเป็นเดือน มี.ค. จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะลงนามสัญญาร่วมกันภายในปลายเดือนก.พ.

สำหรับความล่าช้านั้นเป็นเรื่องของรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขในสัญญาโดยเฉพาะเรื่องของการวางการันตีหรือหลักประกันที่ฝ่ายจีนเสนอให้น้อยกว่าค่ามาตรฐาน

อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตรนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอของบเพื่อออกแบบประมาณวงเงิน 797 ล้านบาท โดยไทยจะเป็นผู้ทำการออกแบบเองและฝ่ายจีนจะเป็นที่ปรึกษา และคาดว่าจะสามารถเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการดังกล่าวเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการทันรัฐบาลนี้

"จุดยืนของเรายังอยู่ในเรื่องของการใช้ระบบกฎหมายของไทยเช่นเรื่องการขอประกันผลงานที่ทางจีนขอปีเดียว แต่เราขอ 2 ปีตามมาตรฐานสากล เรื่องของการประกันสัญญาก็ยังคุยเรื่องเปอร์เซ็นต์ที่ทางจีนขอต่ำมากคือ 0.0001% ซึ่งกฎหมายเราให้ไม่ได้ตามมาตรฐานเราให้แค่ 0.1% และที่ยังตกลงไม่ได้อีกคือหากมีการล่าช้าทางจีนก็ขอปรับไทย ปกติเราไม่ยอมเพียงแต่ในกฎหมายเราแค่ยอมขยายเวลาการดำเนินการก่อสร้างให้เท่านั้นไม่มีการจ่ายเงินที่เป็นหลักการโครงการที่เราทำทั่วไป ส่วนค่าปรับกรณีที่มีความล่าช้ายังไม่การเสนอเป็นตัวเลข แต่เรายอมจ่ายค่าปรับไม่ได้ยอมให้แค่ผู้รับเหมาขยายเวลา"นายอาคม กล่าว

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)กล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา นั้นจะต้องมีการขยายระยะเวลาก่อสร้างตอนที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.เนื่องจากขณะนี้ติดปัญหาเรื่องขั้นตอนเอกสารของระหว่างหน่วยงานคือรฟท.ผู้เป็นจเของโครงการและกรมทางหลวง(ทล.)ซึ่งเป็นผู้ดูแลงานก่อสร้าง ดังนั้นจึงต้องขยายเวลาออกไปอีก 4 เดือน หรือแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. 2562 จากเดิมที่กำหนดไว้ราวเม.ย. 2562

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่าการเจรจาการประกันสินค้ารถไฟความเร็วสูงหรือการันตีที่ฝ่ายจีนเสนอให้เพียง 1 ปีเท่านั้นพร้อมอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมและมาตรฐานการันตีปกติในประเทศ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะบริษัทผลิตรถไฟฟ้าทั่วโลกมีค่าการันตีตามมาตรฐานสากลที่ 2 ปี เนื่องจากเป็นสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นสินค้ามูลค่ามาก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะทำให้สูญเสียเงินนับหมื่นล้านบาท หากพบภายหลังว่าสินค้าเกิดปัญหาในภายหลังและประเทศไทยก็ยังไม่มีความสามารถเพียงพอในการผลิตและประกอบรถไฟฟ้าความเร็วสูง

ซึ่งประกันนั้นจะครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด อาทิ อะไหล่ งานระบบตัวรถ ค่าซ่อม อุปกรณ์ภายในรวมถึงประกันอุบัติเหตุให้กับผู้โดยสารหากเกิดเหตุการณ์ผิดพลาด ดังนั้นหากคู่เจรจายังไม่ขยายเวลาให้คงไม่สามารถลงนามได้และต้องยกเลิกการเจรจาสัญญาดังกล่าวกับคู่สัญญาเดิม เพื่อสรรหาบริษัทผู้ผลิตรายใหม่ต่อไปภายใต้สัญญาความร่วมมือระหว่างรัฐบาล(G2G)

เบื้องต้นฝ่ายจีนยังไม่คัดค้านอะไรแต่การเจรจายังคงต้องดำเนินต่อไป ดังนั้นโครงการดังกล่าวมีโอกาสที่จะต้องยกเลิกการเจรจาแบบ G2G กับประเทศจีนหากยังไม่สามารถเจรจาสัญญา 2.3 เพื่อลงนามร่วมกันให้ทันรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากงานก่อสร้างโยธาจำนวน 14 สัญญานั้นไม่เกี่ยวกับข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐกับประเทศจีนเป็นการประมูลผู้รับเหมาไทยเข้าไปก่อสร้างตามการออกแบบรายละเอียดที่จีนได้วางไว้ ดังนั้นสัญญา 2.3 จึงเป็นเรื่องหนึ่งเดียวที่ผูกติดกับจีน หากไม่สามาถรเจรจาให้จบในรัฐฐาลชุดนี้ได้มีโอกาสที่รัฐบาลชุดใหม่จะยกเลิกดีลดังกล่าวแล้วไปเจรจากับประเทศผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงเจ้าอื่นจากทั่วโลก เพื่อขอเงื่อนไขการจัดซื้อที่ดีกว่าทั้งเรื่องประกันการันตีสินค้า ดอกเบี้ยเงินกู้การจัดหาตัวรถและระบบไฟฟ้า รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มต่ำกว่า 3% หากไม่ผูกโครงการไว้กับชาติใดชาติหนึ่ง