posttoday

10เขื่อนเสี่ยงแล้งหนัก เผยปริมาณฝนช่วง3เดือนหน้าต่ำกว่าปกติ

12 กุมภาพันธ์ 2562

รองนายกฯรายงานครม.พบ 10 เขื่อนมีความเสี่ยงแล้งหนัก สทนช.เผยแนวโน้มปริมาณฝนช่วง 3 เดือนหน้าต่ำกว่าปกติ

รองนายกฯรายงานครม.พบ 10 เขื่อนมีความเสี่ยงแล้งหนัก สทนช.เผยแนวโน้มปริมาณฝนช่วง 3 เดือนหน้าต่ำกว่าปกติ

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานสถานการณ์น้ำต่อที่ประชุมว่า ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริหารจัดการน้ำให้ดี โดยเน้นในเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากขณะนี้พบว่ามี 10 เขื่อนที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ

ทั้งนี้มีรายงานว่าเขื่อนที่เสี่ยงแล้งมาก อาทิ 1.เขื่อนอุบลรัตน์ ความจุ 2,431 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีน้ำเหลือใช้การได้ 132 ล้านลบ.ม.หรือ 7% 2.เขื่อนทับเสลา ความจุ 160 ล้านลบ.ม. เหลือน้ำ 24 ล้าน ลบ.ม. หรือ 17% 3.เขื่อนสิรินธร ความจุ 1,966 เหลือน้ำ 202 ล้าน ลบ.ม. หรือ 18% 3.เขื่อนกระเสียว ความจุ 289 ล้านลบ.ม. เหลือน้ำ 28 ล้านลบ.ม.หรือ 29 % 4.เขื่อนแม่มอก ความจุ 110 ล้านลบ.ม. เหลือ 28 ล้านลบ.ม. หรือ 29% 5.เขื่อนห้วยหลวง ความจุ 136 ล้านลบ.ม. เหลือ 41 ล้านลบ.ม. หรือ 32% 6.เขื่อนลำนางรอง ความจุ 121 ล้านลบ.ม. เหลือ 35 ล้านลบ.ม. หรือ 29% เขื่อนลำปาว ความจุ 1,980 ล้านลบ.ม. เหลือน้ำ 893ล้านลบ.ม. หรือ 43%

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้าปริมาณฝนตกโดยรวมจะต่ำกว่าปกติ 5% โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตะวันออก และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปริมาณฝนรวมต่ำกว่าปกติ 10% ประกอบกับอากาศร้อนทำให้การเสียน้ำเพิ่มขึ้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารน้ำอย่างเคร่งครัดตามแผน

ทั้งนี้ได้ประสานขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มข้นการควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน งดการส่งน้ำนอกแผน การตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกเกินแผนจัดทำทะเบียนเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชรอบสอง แจ้งเตือนเกษตรกรงดการปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่อง

ขณะที่ มาตรการที่ สทนช.จะได้นำเสนอต่อ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำฯรับทราบ ได้แก่

1. ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิดพร้อมจัดทำมาตรการควบคุมพื้นที่เพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับแผนการจัดสรรน้ำ

2. ติดตามเฝ้าระวังสภาพน้ำในลำน้ำสายหลักและพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆเพื่อแจ้งข้อมูลให้ทางจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทราบและเตรียมการป้องกัน

3.การประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้รณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างประหยัดโดยเฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่ปลูกพืชฤดูแล้ง โดยเฉพาะการขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 22จังหวัด ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรไม่เพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยวและปรับเปลี่ยนอาชีพอื่น

4.การเตรียมความพร้อมในด้านเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเครื่องผลักดันน้ำ รถขุด เรือขุด วัสดุอุปกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนหรือพื้นที่เกษตรที่รอเก็บเกี่ยวให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

5.ขอให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารจัดการแหล่งน้ำเตรียมการจัดทำบัญชีรายชื่อแหล่งน้ำ ผู้ใช้น้ำโดยแสดงขอบเขตของพื้นที่ที่รับผิดชอบในเชิงพื้นที่ตามที่ระบุใน พ.ร.บ. น้ำ พ.ศ.2561