posttoday

สภาดิจิทัล

12 กุมภาพันธ์ 2562

งคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ความเป็นอยู่แบบอะนาล็อก (Analog) กำลังถูกแทนที่ด้วยความเป็นอยู่แบบดิจิทัล (Digital)

เรื่อง รุจิระ บุนนาค กรรมการผู้จัดการ Marut Bunnag International  Law Office [email protected] Twitter : @RujiraBunnag

สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ความเป็นอยู่แบบอะนาล็อก (Analog) กำลังถูกแทนที่ด้วยความเป็นอยู่แบบดิจิทัล (Digital) การติดต่อสื่อสารทางด้านโทรคมนาคม สามารถส่งข้อมูลเป็นจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก

ในอนาคตอันใกล้อุปกรณ์และของใช้ต่างๆ จะก้าวเข้าสู่ยุค IOT (Internet of Thing) ซึ่งหมายถึงอุปกรณ์และของใช้ต่างๆ จะสามารถติดต่อสื่อสารถึงกัน ทำงานประสานกัน โดยการเชื่อมต่อกันเองด้วยสัญญาณโทรคมนาคม และอินเทอร์เน็ตไว-ไฟ (WiFi) มนุษย์ไม่จำเป็นต้องควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยการลงรายละเอียดทุกขั้นตอนอีกต่อไป อุปกรณ์และของใช้ต่างๆ สามารถทำงานประสานร่วมกันเป็นอย่างดี แม้จะอยู่ห่างไกลด้วยระยะทาง

หุ่นยนต์ที่ทำงานในโรงงานผลิตสินค้า ถือเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันในระดับหนึ่ง ในอนาคตอันใกล้เราจะได้มีโอกาสเห็นอุปกรณ์ของใช้ในบ้านที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น ระบบไฟและแสงสว่างในบ้าน ทำงานประสานเชื่อมโยงกันเอง และยังสามารถบังคับสั่งการได้จากเจ้าของในระยะไกล

ล่าสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดย พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีนโยบายให้ภาคเอกชนร่วมกันจัดตั้งสภาดิจิทัลแห่งชาติให้มีลักษณะเทียบเคียง สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเอกชนด้านดิจิทัลที่มีการรวมตัวกันประมาณ 20 องค์กรอยู่แล้ว สมควรที่จะรวมตัวกัน เพื่อเป็นสภาดิจิทัลแห่งชาติ ขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้ผลักดันร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) นำเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้พิจารณาวาระที่หนึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาวาระที่สองและวาระที่สาม

สภาดิจิทัลจึงเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ

ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนมีสภาดิจิทัลด้วยกันทั้งสิ้น เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสภาดิจิทัลฯ ในประเทศต่างๆ เหล่านั้น ล้วนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล

เมื่อจะมีการก่อตั้งสภาดิจิทัลในประเทศไทย ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ว่า การก่อตั้งสภาดิจิทัล เป็นเรื่องที่กลุ่มทุนใหญ่ของประเทศต้องการจะครอบงำอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ

ในเรื่องนี้มีประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี้ ประการแรก การครอบงำโดยกลุ่มทุนใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เพราะจะมีการตรวจสอบภายในและถ่วงดุลอำนาจในสภาดิจิทัล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สมดุล และปราศจากการครอบงำที่ทำให้ไม่เป็นกลาง

สภาดิจิทัลยังเปิดโอกาสให้ผู้ทำประโยชน์กับอุตสาหกรรมดิจิทัลหรืออุตสาหกรรมรายย่อยประเภทต่างๆ เข้าร่วมทำงานกับสภาดิจิทัล ผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาดิจิทัลจะมีทั้งผู้ประกอบการด้านดิจิทัลขนาดต่างๆ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และบุคคลต่างๆ ซึ่งสนใจในด้านดิจิทัล ถือว่าเป็นการเปิดกว้างอย่างมาก ดังนั้นการเข้าครอบงำสภาดิจิทัลจึงไม่สามารถกระทำได้

การดำเนินงานของสภาดิจิทัล จะประกอบด้วย คณะกรรมการคณะต่างๆ ซึ่งมาจากผู้ประกอบกิจการทุกประเภท และผู้ใช้งานทุกประเภท

ประการที่สอง การพัฒนาทางด้านดิจิทัลนับว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ใช้กำลังคน และเงินทุนมหาศาล ดังนั้นการที่มีกลุ่มธุรกิจใหญ่เข้าร่วมด้วยจึงน่าจะเป็นผลดี เพราะกลุ่มทุนธุรกิจใหญ่จะมีความพร้อมในหลายด้าน สามารถผลักดันให้เกิดสภาดิจิทัลได้ หากมีแต่เพียงผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เป็นสมาชิกสภาดิจิทัล จะขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สภาดิจิทัลจะเกิดและทำงานได้ลำบากมาก เพราะจะไม่ได้รับความสนับสนุนจากทุกฝ่าย หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว น่าจะเป็นผลดีมากกว่า

หากเปรียบเทียบกับในต่างประเทศ สภาดิจิทัลได้มีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าร่วมด้วย เช่น สภาดิจิทัลของอังกฤษ มีสมาชิก อาทิ Facebook, Microsoft, Google เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ระดับโลก

องค์กร Digital Europe ที่ทำหน้าที่นี้ในประชาคมยุโรป มีสมาชิกที่ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก อาทิ Nokia, Samsung, Motorola, Huawei, Sony, Mitsubishi Electric, Apple, Oracle, Ericsson, Cannon เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี

ประเด็นสำคัญ จึงอยู่ที่ว่า สภาดิจิทัลต้องประกอบด้วยทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และผู้ใช้งานดิจิทัลด้วย ทุกกลุ่มควรเห็นประโยชน์ของสภาดิจิทัล และร่วมกันผลักดันให้สภาดิจิทัลเกิดขึ้นให้ได้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับเป็นที่ตั้ง เพื่อพัฒนาพื้นฐานเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศเป็นสำคัญ ในที่สุดทุกกลุ่มธุรกิจจะเติบโตไปด้วยกัน และประกอบธุรกิจของตนได้อย่างยั่งยืน บนเศรษฐกิจที่ดีและเข้มแข็งของประเทศ

ในการดำเนินงานใหญ่อาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้าง ควรถือเป็นรายละเอียดที่จะต้องรับฟังและแก้ไข เพื่อให้การดำเนินงานสามารถลุล่วงได้

หากมีสภาดิจิทัลจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อน และก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ทัดเทียมกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ