posttoday

รถไฟฟ้า10สายฉลุย! สภาพัฒน์เห็นชอบ2เส้นสุดท้ายชงครม.ก่อนเลือกตั้ง

11 กุมภาพันธ์ 2562

แผนลงทุนรถไฟฟ้า 10 สาย รัฐบาล “บิ๊กตู่” จบ สภาพัฒน์ผ่าน 2 เส้นสุดท้าย ชงเข้า ครม.ก่อนเลือกตั้ง

แผนลงทุนรถไฟฟ้า 10 สาย รัฐบาล “บิ๊กตู่” จบ สภาพัฒน์ผ่าน 2 เส้นสุดท้าย ชงเข้า ครม.ก่อนเลือกตั้ง

แหล่งข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) ได้พิจารณาและเห็นชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะเสนอคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ทั้งนี้ ช่วงที่นำเสนอเข้าสู่ ครม. จะใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย สีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 17,500 ล้านบาท และสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,500 ล้านบาท ที่ขณะนี้ผ่านบอร์ด สศช. แล้วรอการเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เช่นกัน

“ทั้งสองโครงการผ่านบอร์ดสภาพัฒน์ไปแล้ว กระทรวงคมนาคมคงจะเสนอเข้า ครม.เร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้โครงการรถไฟฟ้าใน กทม.และปริมณฑล ได้รับการอนุมัติทันรัฐบาลชุดนี้ก่อนการเลือกตั้งจะมีขึ้นแน่นอน” แหล่งข่าวเปิดเผย

จากรายงานของ สศช. ระบุว่า ในช่วงปี 2557-ปัจจุบัน รัฐบาลได้ลงทุนเรื่องรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปแล้วกว่า 8.74 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 70% โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณา 19% และเปิดให้บริการแล้ว 11% โดยเมื่อก่อสร้างครบในปี 2568 จะเพิ่มระยะทางการขนส่งจาก 72 กิโลเมตร เป็น 343 กิโลเมตร สามารถรองรับการให้บริการประชาชน 5.13 ล้านคน/วัน

ทั้งนี้ ภายหลังอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าครบทั้ง 10 เส้นทางแล้ว ระยะต่อไปจะเร่งรัดการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น หาดใหญ่ นครราชสีมา เชียงใหม่ และพิษณุโลก

ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในช่วงรัฐบาลนี้ตั้งแต่ปี 2557-ปัจจุบัน มีวงเงินลงทุนรวมกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยวงเงินลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับระบบรถไฟฟ้า 1.27 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการรถไฟทางคู่ที่เพิ่มขึ้นจาก 251 กิโลเมตร เป็น 2,453 กิโลเมตร ระยะต่อไปจะเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม และเส้นทางรถไฟความเร็วสูง นครราชสีมา-หนองคาย

สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง วงเงินลงทุนรวม 3.02 แสนล้านบาท โดยมีการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 165.9 กิโลเมตร ทางพิเศษ 9 เส้นทาง ระยะทางรวม 207.9 กิโลเมตร และระยะต่อไปคือเร่งรัดเส้นทางนครปฐม-ชะอำ การก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ และทางพิเศษ กะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต