posttoday

สศช.สั่งเกาะติดพฤติกรรมธุรกิจรายใหญ่เอาเปรียบรายย่อยผูกขาดการค้า

10 กุมภาพันธ์ 2562

สภาพัฒน์ฯสั่งสำนักงานแข่งขันทางการค้า เกาะติดพฤติกรรมธุรกิจรายใหญ่เอาเปรียบรายย่อย

สภาพัฒน์ฯสั่งสำนักงานแข่งขันทางการค้า เกาะติดพฤติกรรมธุรกิจรายใหญ่เอาเปรียบรายย่อย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่แยกตัวออกจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มาเป็นองค์กรอิสระเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2562 ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกรอบวงเงินตามคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า วงเงินรวม 404 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ต่อไป

ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีความเห็นในที่ประชุม ครม.ว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้าที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย ติดตามพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการผูกขาด การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค สะดวก และรวดเร็ว เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ส่งเสริมบรรยากาศการค้าและการลงทุน

ขณะที่ด้านกระทรวงการคลัง ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าต้องให้ความสำคัญในการควบคุม กำกับดูแลการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามระเบียบใช้จ่ายงบประมาณมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับยุทธศาสตร์การกำกับการแข่งขันทางการค้า ในปี 2563-2564 มี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.กำกับดูแลโครงสร้างตลาดและการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ใช้งบประมาณ 30.16 ล้านบาท 2.เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นสากล 18.06 ล้านบาท 3.ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าทั้งในและนอกประเทศ 12.62 ล้านบาท 4.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประกอบธุรกิจและผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายแข่งขันทางการค้า 95.49 ล้านบาท และ 5.สร้างระบบการบริหารจัดการและพัฒนาบุคลากร 78.10 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่ตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งปรับปรุงจากกฎหมายปี 2542 สามารถสรรหาคณะกรรมการครบ 7 คน เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2561 ซึ่งความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายและแยกตัวออกมานี้ เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่สอดคล้องกับธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ขาดเครื่องมือในการดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและเป็นสากล รวมถึงการถูกแทรกแซงซึ่งกระทบต่อประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้มภาพ