posttoday

เตือนงดนำเนื้อสัตว์เข้าไต้หวัน

08 กุมภาพันธ์ 2562

พาณิชย์แจ้งเตือนคนไทยเดินทางไปไต้หวัน ห้ามนำเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าประเทศ หลังมีการลงโทษคนฝ่าฝืน 113 ราย เป็นคนไทย 4 ราย

พาณิชย์แจ้งเตือนคนไทยเดินทางไปไต้หวัน ห้ามนำเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าประเทศ หลังมีการลงโทษคนฝ่าฝืน 113 ราย เป็นคนไทย 4 ราย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้มีการติดตามการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ที่ไต้หวัน ได้เพิ่มโทษปรับจากเดิมที่ 3,000-1.5 หมื่นดอลลาร์ เป็น 1 หมื่น-1 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2561 เป็นต้นมา โดยมีสถิติล่าสุดที่รายงานจากสภาไต้หวัน พบว่ามีชาวต่างชาติที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ดังกล่าวแล้วจำนวน 113 ราย ในจำนวนนี้เป็นชาวไทย 4 ราย ซึ่งต้องเสียค่าปรับคนละ 3 หมื่นดอลลาร์

"ขอเตือนคนไทยที่เดินทางเข้าไต้หวันงดการพกพาเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าไต้หวันในทุกรูปแบบ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของสัตว์โดยเฉพาะส่วนประกอบของสุกร และขอให้สำแดงสิ่งของที่พกพามาด้วยต่อเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบและกักกันสัตว์และพืชก่อนเข้าไต้หวัน รวมทั้งแจ้งเตือนคนไทยที่พำนักอยู่ในไต้หวันให้ระมัดระวังการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทางอินเทอร์เน็ตด้วย" นายอดุลย์ กล่าว

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้ควบคุมการลักลอบนำเข้าสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสัตว์ทุกชนิด (เนื้อ กระดูก อวัยวะภายใน ไขมัน โลหิต หนัง ขน เขา เอ็น กีบเท้า น้ำนม ไข่ น้ำเชื้อ และ ตัวอ่อน) ที่อาจเป็นพาหะนำโรคระบาดในสัตว์เข้าไต้หวัน โดยเฉพาะจากพื้นที่เขตระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : AFS) และในเขตพื้นที่ที่อาจเป็นพาหะนำโรคระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย (Food and Mouth Disease) และไข้หวัดนก (High Pathogenicity Avian Influenza : HPAI)

อย่างไรก็ตาม โทษปรับต่อผู้ลักลอบนำเข้าสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสัตว์ทุกชนิดที่อาจเป็นพาหนะนำโรคระบาดในสัตว์ตามกรณี มีดังนี้ 1.ลักลอบนำเข้าจากประเทศที่เคยปรากฏ โรคอหิวาต์แอฟริกา (AFS) 2.ลักลอบ นำเข้าจากประเทศที่เคยปรากฏโรค AFS ในสุกร 3.ลักลอบนำเข้าจากประเทศที่เป็นเขตระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยและโรคไข้หวัดนก (HPAI) และ 4.ลักลอบนำเข้าจากประเทศอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้น

"คนไทยที่เดินทางไปไต้หวันควรจะปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับสูงมาก เพราะไต้หวันต้องการควบคุมเรื่องโรคระบาดในสัตว์ ที่จะส่งผลดีต่อสุขอนามัยของประชาชนในไต้หวัน" นายอดุลย์ กล่าว

สำหรับสถิติการส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ไปไต้หวันในช่วงปี 2561 (ม.ค.ธ.ค.) พบว่ามีการส่งออกรวม 8.28 ตัน เพิ่มขึ้น 237.13% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7 แสนบาท เพิ่มขึ้น 40% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน