posttoday

สนข.คาดตั้ง "กรมราง" กำกับดูแลกิจการรถไฟภายในเม.ย.นี้

30 มกราคม 2562

ผู้อำนวยการ สนข. เผยสนช.เห็นชอบกฎหมายตั้ง "กรมราง" แล้ว คาดจัดตั้งได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ ชี้มีอำนาจกำกับดูแลกิจการรถไฟ-ลงโทษผู้ให้บริการ

ผู้อำนวยการ สนข. เผยสนช.เห็นชอบกฎหมายตั้ง "กรมราง" แล้ว คาดจัดตั้งได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ ชี้มีอำนาจกำกับดูแลกิจการรถไฟ-ลงโทษผู้ให้บริการ

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งกรมรางว่า ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้เห็นชอบร่างพรบ.การจัดตั้งกรมรางเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมาขณะกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาตัวบทกฎหมาย อาทิ พระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. และการออกประกาศกฎกระทรวง ซึ่งต้องรอ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบต่อไปภายในเดือนก.พ.นี้

สำหรับขอบเขตอำนาจของกรมรางนั้นจะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) คล้ายกับกรมการขนส่งทางบก ส่งผลให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) รวมถึงบริษัทเอกชนเป็นเพียงผู้ประกอบการ(Operator) ภายใต้กำกับดูแลภายใต้รัฐบาลและกฎหมายที่กำหนด ดังนั้นจึงมีอำนาจควบคุมรถไฟทั่วไป รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง อาทิ ด้านการวางแผนพัฒนาระบบราง การควบคุมมาตรฐานงานเดินรถและบริการ การพัฒนาที่ดินและพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามแนวเส้นทาง การลงโทษผู้ให้บริการ และการกำหนดราคาค่าโดยสารเป็นต้น

เมื่อขั้นตอนทุกอย่างครบหมดแล้วจะเสนอครม.เพื่อขอความเห็นชอบ คาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ เพื่อจัดหาบุคลากรราว 203 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 176 คน และพนักงานราชการ 27 คน ควบคู่ไปกับการออกกฎหมายลูกภายใต้พรบ.การขนส่งทางราง จากนั้นจะเข้าควบคุมบริหารงานได้เต็มที่ภายในก.ย.นี้

นายสราวุธกล่าวต่อว่าสำหรับการควบคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอนาคตนั้นกรมรางจะเข้ามาดูเรื่องการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า การกำหนดค่าโดยสารที่เป็นทำโดยจัดทำมาตรฐานราคาในแต่ละสายให้มีความสอดคล้องกัน แต่ทั้งนี้ไม่มีอำนาจไปกำกับดูแลและเปลี่ยนแปลงสัญญารถไฟฟ้าที่อยู่ในสัมปทานปัจจุบันซึ่งได้ลงนามไปแล้ว อาทิ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเขียวอ่อน-เขียวเข้ม รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นต้น

ดังนั้นจึงมีผลการกำกับดูแลเฉพาะรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเกิดและรถไฟฟ้าสายเดิมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานอย่างสายสีเขียว ดังนั้นในช่วงแรกจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ไปพลางก่อนระหว่างการรอออกกฎหมายลูกเพื่อบังคับใช้ต่อไป สำหรับการสรรหาตำแหน่งผู้บริหารรวม 8 ตำแหน่งนั้นประกอบด้วย อธิบดี 1 ตำแหน่ง รองอธิบดี 1 ตำแหน่ง วิศวะกรใหญ่ 1 ตำแหน่ง และผู้อำนวยการฝ่ายอีก 5 ตำแหน่ง